xs
xsm
sm
md
lg

เปิดระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ ในเขตทุรกันดาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เผย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด นำระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ( sky doctor) ให้บริการประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ป้องกันความพิการจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ชี้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 24-30 รายต่อปี
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
 
 
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 1ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบบริการ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปางตอง ตำบลแม่อูคอ โรงพยาบาลขุนยวม อำเภอขุนยวม และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำชับให้เตรียมพร้อมทีมแพทย์ พยาบาล ทีมกู้ชีพฉุกเฉิน ให้พร้อมดูแลสุขภาพนักท่องเที่ยวที่เดินทางในช่วงฤดูหนาว เช่น ช่วงเทศกาลดอกบัวตองบาน แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากกว่าแสนคน โดยเฉพาะระบบส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ ภูเขาสูง การคมนาคมเข้าถึงยากลำบาก บางพื้นที่อยู่ไกลจากโรงพยาบาลใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์เพื่อเข้าถึงพื้นที่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งมีผลต่อการรับส่งผู้เจ็บป่วยที่อยู่ในระยะวิกฤติ-ฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อย่างเร่งด่วนภายใน 3-4 ชั่วโมง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้เสียชีวิตหรือพิการ ดังนั้น เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่และน่าน จึงได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในการให้บริการแก่ประชาชนที่มีภาวะเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉินทางอากาศยาน( sky doctor) ขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล
 
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม (กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และบริษัทกานต์ นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อการขอใช้อากาศยานของหน่วยงานดังกล่าว ในการลำเลียงนำส่งผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน โดยมีโรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่เป็นแม่ข่ายในการตัดสินใจสั่งการ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 มีผลการปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยานประมาณ 24-30ราย/ปี และขณะนี้กำลังร่วมกันจัดทำคู่มือลำเลียงผู้ป่วยของเขตและจัดทำไลน์กรุ๊ป( Line grop )เขต ชื่อนอร์ท สกาย ดอกเตอร์( sky doctor north) เพื่อใช้ในการประสานการลำเลียงผู้ป่วยระหว่างจังหวัด ประชาชนสามารถแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
“สำหรับเกณฑ์การขอใช้ปฏิบัติการฉุกเฉินด้วยอากาศยาน 1.แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยพิจารณาแล้วให้ลำเลียงส่งต่อหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยาน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น 2.เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือฉุกเฉินเร่งด่วนที่เกินขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินหรือสถานพยาบาล หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ ชีวิตหรือมีอาการรุนแรงขึ้น โดยให้คำนึงถึงสภาพพื้นที่ที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ประสบภัย หรือพื้นที่เสี่ยงภัยอันตราย 3.การลำเลียงยา หรือเวชภัณฑ์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่ประสบภัย หรือพื้นที่เสี่ยงภัยอันตราย 4.การขนย้ายอวัยวะหรือชิ้นส่วนของมนุษย์เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

อย.ทลายแหล่งผลิต-ร้านขายเครื่องสำอางปลอม

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น