โดย...ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
Amartya Sen ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2541 ได้เขียนบทความชื่อ Affordable dream หรือความฝันที่สามารถทำได้ ตีพิมพ์ลงใน The Guardian วันอังคารที่ 6 มกราคม 2558 มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มักจะถูกมองว่าทำได้เฉพาะประเทศร่ำรวย แต่ประเทศไทยเป็นตัวอย่างประเทศที่ไม่ร่ำรวยที่สามารถทำได้ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวยและเมืองกับชนบท การลงทุนเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ทำให้การตายของทารกลดลงอย่างมากและทำให้อายุขัยเฉลี่ยยาวขึ้นถึง 74 ปี ดังนั้นการลงทุนในระบบสาธารณสุขจึงเป็นการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจในอนาคต”
ตลอด 12 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ได้ช่วยให้คนไทยไม่หมดเนื้อหมดตัวไปกับค่ารักษาพยาบาลได้นับแสนครอบครัว แต่แม้กระนั้น ก็ยังมีคนไทยส่วนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันและต้องขายทรัพย์สินเพื่อจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลถึงขั้นครอบครัวล่มสลายก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ แตกต่างจากโรงพยาบาลภาครัฐที่แม้จะมีบางส่วนประสบกับภาวะรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย แต่กระนั้นก็ยังไม่มีโรงพยาบาลรัฐแม้แต่แห่งเดียวที่ต้องปิดทำการเพราะปัญหาทางการเงิน ตรงกันข้ามกลับมีโรงพยาบาลภาครัฐเพิ่มขึ้นทุกปี ภายใต้งบประมาณการก่อสร้างรวมทั้งค่าจ้างค่าแรงบุคลากรจากภาครัฐแทบทั้งสิ้น
การสาธารณสุข และการศึกษาเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาว รัฐบาลในหลายประเทศให้ความสำคัญและจัดเป็น “รัฐสวัสดิการ” โดยจัดงบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบ ในด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลประเทศต่างๆว่า แต่ละปีรัฐควรจัดงบประมาณด้านสาธารณสุขไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) และไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณประเทศโดยรวม รัฐสวัสดิการหลายประเทศที่การสาธารณสุขมีความก้าวหน้าก็ล้วนแต่ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษและญี่ปุ่น ก็พบว่าใช้งบประมาณสูงถึงร้อยละ 7.8 และ 8.3 ตามลำดับ
ปี 2557 ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสุขภาพรวมทุกระบบ ราว 2 แสนล้านบาท แม้จะดูมากแต่หากมองในภาพรวมจะพบว่า รัฐใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 3.7 ของ GDP เท่านั้น ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่ได้รับมาเฉลี่ยต่อจำนวนสมาชิกของแต่ละกองทุน จะเห็นว่ารัฐดูแลข้าราชการถึงคนละ 12,000 บาท/ปี ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้บัตรทอง ได้รับการดูแลเพียง 2,895 บาท/คน/ปีเท่านั้น ความแตกต่างเช่นนี้อาจเรียกว่าเป็น “ความเหลื่อมล้ำ” ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย งบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อเนื่องกันหลายปี ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อรัฐจัดสรรงบให้ไม่เพียงพอ โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยที่ให้บริการรักษาพยาบาลปลายทางก็ย่อมได้รับผลกระทบจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน สุดท้ายก็จะกระทบกับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังเป็นปฐมเหตุที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพต้องมาพิพาทกันให้เป็นที่วุ่นวายอยู่ในปัจจุบันนี้
“เครื่องจักร” ถ้าชำรุดหรือบกพร่องก็ส่งซ่อม ซ่อมจนสมบูรณ์แล้วก็นำกลับไปใช้งานสามารถสร้างผลิตภาพต่อไปได้ตามปกติ เหมือนกับ “คน” ที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหากป่วยไข้หรือได้รับอุบัติเหตุ รักษาจนแข็งแรงดีแล้ว ก็กลับคืนสู่สังคมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ออกแบบให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแล แทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระของคนในครอบครัวต้องหยุดงานเพื่อมาดูแล จะเห็นได้ว่าระบบสุขภาพมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก การลงทุนด้านสุขภาพที่เพียงพอย่อมส่งเสริมการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
Timothy Evans ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารโลก ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการประชุมนานาชาติรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2558 ที่เซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 26-31 มกราคม ที่ผ่านมาว่า “การลงทุนในระบบสาธารณสุขที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ถือว่าเป็นการฆ่าผู้คนและเป็นการทำลายเศรษฐกิจ”
ในเมื่อประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงร้อยละ 3.7 ของ GDP ก็หมายความว่ารัฐยังสามารถสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมได้อีก การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงในระยะยาวแล้ว ยังช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องลงทุนเพิ่มแล้วครับ.
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่