xs
xsm
sm
md
lg

สงสัย! ระดมความเห็นบัตรทอง จ่าย “500” แล้วสลายโต๋ สปสช.แจงทำถูกต้อง จวกสร้างประเด็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอยอร์น” ตั้งข้อสงสัย ระดมรับฟังความเห็นบัตรทอง คนร่วมเซ็นชื่อรับเงิน “500” แล้วกลับบ้าน ทั้งที่ประชุมยังไม่เสร็จ ตั้งคำถามเหมาะสมหรือไม่ ด้านโฆษก สปสช. เผย ปชช. เสียใจถูกกล่าวหา สปสช. ใช้เงินจ้าง ย้ำเบิกค่าพาหนะทำถูกต้องตามระเบียบจ่ายทั้ง สธ. และ ปชช. ระบุเบิกจ่ายช่วงท้ายประชุมแล้ว จวกอย่าสร้างประเด็นขัดแย้งใหม่

นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์ ประจำเขตสุขภาพที่ 12 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “ยอร์น จิระนคร” โดยตั้งข้อสงสัยว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น มีความผิดปกติ เนื่องจากคนที่มาร่วมล้วนแต่เป็นคนแปลกหน้ามากมาย แต่จากการใช้เงินลงทุนจัดงานถึง 7 ล้านบาท อาจจะมีการเชิญคนมาหลายกลุ่ม เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่ระหว่างการชี้แจง มีการตะโกนหน้าห้องประชุมให้ตามพวกเราออกมาให้หมด และมีการชูป้ายยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข

นพ.ยอร์น เขียนในเฟซบุ๊กอีกว่า อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ต่างคนต่างเตรียมมา เชื่อในความตั้งใจดีของทุกฝ่ายที่ต่างคิดเหมือนกันเช่นวันมาฆบูชา แต่หลังจากนั้นทราบว่ามีลักษณะเหมือนเซ็นรับค่าใช้จ่ายและเร้นกายหายไปจากที่ประชุม จึงอยากให้ตรวจสอบว่าการกระทำเช่นนี้ถูกต้องตามหลักการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ถูกตามระเบียบเบิกค่าใช้จ่ายหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปรากฏการณ์การเซ็นชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลา 14.30 น. ของวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งตามกำหนดการแล้ว เป็นช่วงการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการเซ็นชื่อเพื่อรับซองนั้น หน้าซองระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นค่าพาหนะ จำนวน 500 บาท

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า การจ่ายเงินค่าเดินทางดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการเดินทางมา ก็เบิกจ่ายให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือภาคประชาชน ซึ่งเราดำเนินการจ่ายค่าพาหนะถูกต้องตามระเบียบ สามารถตรวจสอบได้ ส่วนข้อสงสัยว่าการจ่ายค่าเดินทางเสร็จแล้วทยอยเดินทางกลับกันทันทีนั้น ข้อเท็จจริงคือ เราให้ค่าเดินทางช่วงท้ายของการประชุมแล้ว คือ การส่งมอบความเห็นให้แก่ รมว.สาธารณสุข โดยช่วงบ่ายจะแบ่งเสนอความเห็นเป็น 8 ห้อง ซึ่งคนก็ยังอยู่ล้นการประชุม โดยเริ่มส่งความเห็นของการรับฟังในวันที่ 29 - 30 ม.ค. และ 1 ก.พ. ก่อน จากนั้นจึงมีตัวแทนนำเสนอความคิดเห็นในส่วนของวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งห้องไหนที่นำเสนอเสร็จแล้วก็เตรียมเดินทางกลับ จึงค่อยให้มาทำเรื่องเบิกค่าพาหนะตามปกติ

"ขณะนี้ สธ. และ สปสช. บอบช้ำมาเยอะแล้ว แต่หน่วยงานก็เป็นลักษณะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่ผู้รับบริการจะรู้สึกมันอะไรกันนักหนา ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรมว.สาะารณสุขก็ย้ำอยากให้ปรองดองกัน เราก็พยายามไม่สร้างประเด็นใหม่ขึ้นมา จึงขอร้องว่าอย่าสร้างประเด็นใหม่เลย ขอให้สงสารประเทศไทย นอกจากนี้ การรับฟังความเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บอกได้ว่ามาทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่ง นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สปสช. ก็เปิดโอกาสให้เต็มที่ในการแสดงความเห็น และหากคิดว่าการเบิกจ่ายดังกล่าวทำไม่เหมาะสม เหตุใดจึงไม่เสนอในเวที ซึ่งกรณีนี้ประชาชนเห็นการโพสต์เฟซบุ๊กแล้ว ส่งเสียงสะท้อนกันมาว่า รู้สึกเสียใจที่ไปกล่าวหาว่า สปสช. ใช้เงินจ้างประชาชนมา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่แรงมาก และไม่สมควรทำ” โฆษก สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น