xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมยันตัดสิทธิ “ว่างงาน” คนลาออก เว้นป่วย-ดูแลครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปส. แจงแก้ไข กม. กรณีตัดสิทธิว่างงานหากลาออกเอง ชี้ผู้ประกันตนบางส่วนใช้วิธีลาออกบ่อยเพื่อหาประโยชน์ ระบุ สนช. ค้านพร้อมถอย แต่หากผ่านจะเร่งแก้ไข เพิ่มเกณฑ์ลาออกแบบมีเงื่อนไข ดูแลครอบครัว มีปัญหาสุขภาพ ถูกบีบให้ลาออกจากงานต้องได้รับสิทธิ
โกวิท สัจจวิเศษ
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส. แถลงชี้แจงกรณีแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.... โดยตัดสิทธิกรณีว่างงานหากผู้ประกันลาออกจากงานเอง ว่า เหตุผลที่ สปส. ตัดสิทธิดังกล่าวออก เนื่องจากเกรงว่าจะมีผู้ประกันตนอาศัยช่องว่างลาออกจากงานและมายื่นใช้สิทธิกรณีว่างงาน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกันตนส่วนหนึ่งลาออกจากงานและเข้าทำงานใหม่โดยยื่นใช้สิทธิกรณีว่างงานและไม่ได้แจ้งว่าเข้าทำงานในสถานประกอบการแห่งใหม่ ขณะเดียวกันนายจ้างก็ไม่ได้แจ้งต่อประกันสังคมว่าลูกจ้างเข้าทำงานแล้วต่อประกันสังคม ทำให้ สปส. ต้องจ่ายเงินกรณีว่างงานออกไป

ยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีผู้ประกันตนในลักษณะนี้จำนวนเท่าใด และจ่ายเงินกองทุนออกไปเท่าใด และที่ผ่านมา ในปี 2555 สปส. ได้จัดทำประชาพิจารณ์ผู้ประกันตนแต่ทำเพียง 4 ภาคไม่ครอบคลุมทั่วประเทศโดยผู้ประกันตนเห็นว่าควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงกรณีเลิกจ้าง นอกจากนี้ ข้อมูลของสปส. ในปี 2557 พบว่า มีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง กว่า 1.7 หมื่นคน สปส. จ่ายเงินกรณีว่างงานกว่า 102 ล้านบาท และมีผู้ประกันตนลาออกจากงานกว่า 7.9 หมื่นคน สปส. จ่ายเงินกรณีว่างงานกว่า 250 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ สปส. ไม่ได้แยกแยะว่ามีผู้ประกันตนที่ลาออกเพื่อหาประโยชน์จากสิทธิกรณีว่างงานจำนวนเท่าใด” นายโกวิท กล่าว

นายโกวิท กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จะมีการประชุมกมธ.วิสามัญฯ เพื่อทบทวนร่างดังกล่าวเพื่อความสมบรูณ์อีกครั้งก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 ซึ่งหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิว่างงานหากลาออกนั้น หากการประชุม สนช. ในวาระที่สองเห็นด้วยกับการสงวนคำแปรญัตติของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสียงข้างน้อยโดยยังคงให้สิทธิกรณีว่างงานหากลาออกไว้ทาง สปส. ก็จะไม่คัดค้าน แต่หาก สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ทาง สปส. จะเร่งแก้ไขกฎหมายโดยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมาณ 4 - 5 มาตรา

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า จะเขียนไว้ในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิว่างงานได้หากลาออกจากงานเอง แต่ต้องเป็นการลาออกแบบมีเงื่อนไข เช่น มีปัญหาสุขภาพ การออกไปดูแลพ่อแม่ที่พิการ มีปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือแม้แต่การถูกบังคับหรือกลั่นแกล้งให้ลาออก โดยจะเร่งเสนอร่างแก้ไขกฎหมายให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ หาก สนช. เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ของ สปส. ในวาระที่ 2 และ 3 คาดว่าจะมีการประกาศใช้ก่อนเดือน พ.ค. นี้ โดยเมื่อ พ.ร.บ. ประกาศใช้แล้วหลัง 180 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่าง 180 วันนี้ กฎหมายเดิมยังมีผลบังคับใช้อยู่และผู้ประกันตนยังคงใช้สิทธิว่างงานกรณีลาออกจากงาน

โฆษก สปส. กล่าวต่อไปว่า หากผู้ประกันตนจะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลพิจารณาออกคำสั่งชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ สปส. ก็ไม่เห็นด้วยเพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนส่วนใหญ่ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม และหากแก้ไขกฎหมายใหม่อีกรอบก็จะต้องใช้เวลา 4 - 5 เดือน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น