ทั้งๆ ที่ยอมรับกันว่า “นมแม่แน่ที่สุด” แต่กลับมีเด็กไทยยุคใหม่น้อยคนนักที่ได้รับอาหารอันเยี่ยมยอด ซึ่งธรรมชาติมอบให้จากอกแม่
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยได้ลดน้อยถอยลงจากที่ผ่านมาอย่างน่าใจหาย จนเหลือทารกแค่ร้อยละ 12 เท่านั้นที่ได้รับนมแม่เป็นอาหารหลักชนิดเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน
และที่น่าตระหนกอย่างยิ่งคือ แม่ในกรุงเทพมหานครแค่ ร้อยละ 8 เท่านั้น ที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่!
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ระบุว่า ทั้งที่มีหลักฐานวิชาการสากลพิสูจน์ชัดเจนว่า ทารกที่กินนมผงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย เช่น เบาหวาน มะเร็ง การติดเชื้อ หอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน อีกทั้งส่งผลต่อระดับสติปัญญา และสุขภาพจิต แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับถดถอยลงอย่างน่าวิตก
“สภาพวิถีชีวิตในโลกปัจจุบันทำให้ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลายด้านเพื่อให้แม่เกิดความมั่นใจ และสามารถเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตนอย่างน้อยตลอดระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด แต่การส่งเสริมการตลาด และการโฆษณานมผงในประเทศไทยได้ก่อให้เกิดอิทธิพลครอบงำค่านิยมของสังคมว่านมผงดีเท่ากับนมแม่ จนทำให้แม่ยุคใหม่เกิดความลังเล หมดความมั่นใจที่จะให้นมลูก”
พญ.ยุพยง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว องค์กรจากหลายภาคส่วนรวม 39 องค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ จึงตัดสินใจรวมตัวในชื่อ สมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทย หรือในชื่อย่อว่า “เครือข่ายท้าบฟ้า” (TABFA- Thai Alliance for Breastfeeding Action) โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า เด็กไทยทุกคนต้องได้กินนมแม่ และได้รับอาหารที่เหมาะสมตามวัย โดยประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และหนึ่งในภาคี “เครือข่ายท้าบฟ้า” กล่าวว่า จากการมีโอกาสได้ศึกษา และติดตามกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดและโฆษณานมผงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ได้มีการการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อสร้างมายาคติที่บิดเบือนข้อเท็จจริงมากมายหลายประเด็นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ที่ประกาศโดย สมัชชาสุขภาพโลก (World Health Assembly) ตั้งแต่ปี 2524 เช่น การแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และของขวัญฟรีให้แก่แม่ การติดต่อทำการตลาดกับแม่โดยตรง ทั้งในศูนย์การค้า โรงพยาบาล การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ฯลฯ การใช้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ เช่น การจัดแสดงสินค้าเพื่อจำหน่ายในคลินิก รวมถึงการแจกคูปองเป็นส่วนลดราคานมผง และจัดส่งนมผงถึงบ้าน เป็นต้น
“วิธีการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการสร้างมายาคติ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่านมผงมีคุณค่าไม่ต่างจากนมแม่ และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถึงยากจนอย่างไรก็ต้องหาเงินมาซื้อนมผงเลี้ยงลูก ทั้งที่นมแม่เป็นของฟรี และดีที่สุดในโลกสำหรับเลี้ยงลูกหลานของเรา” ดร.บวรสรรค์ กล่าว
ผู้แทนจากเครือข่ายท้าบฟ้า ระบุว่า “กติกา” ที่สำคัญในการกำกับดูแลการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณานมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามหลักสากล ซึ่งต้องช่วยกันเร่งผลักดันก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... ที่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ และได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2553 และคณะรัฐมนตรีได้รับรองมติดังกล่าวในปี 2554
นพ.ณัฐพร วงศ์สุทธิ รองอธิบดีกรมอนามัย เล่าถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นร่างกฎหมายที่อ้างอิงเนื้อหาสาระจาก หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ที่ประกาศโดย สมัชชาสุขภาพโลก ตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน โดยปัจจุบันมี 77 ประเทศทั่วโลกได้นำเนื้อหาในหลักเกณฑ์นี้มาจัดทำเป็นกฎหมาย แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ก็รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย
รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ห้ามขายอาหารผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก เพียงแต่ควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปตามหลักสากล หากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้จะทำให้การส่งเสริมการตลาดนมผงเป็นไปอย่างเหมาะสม ส่งผลให้การรณรงค์ และวิธีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายต่างๆ เกิดประสิทธิภาพ ทำให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับอาหารที่ดีที่สุดตั้งแต่มื้อแรกของชีวิต
“บัดนี้เวลาผ่านมานานถึง 4-5 ปีแล้ว ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนจากทุกภาคส่วนสังคมไทยว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นต้องมีขึ้น เวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันหมายถึงการสูญเสียโอกาสมากยิ่งขึ้นทุกที ซึ่งมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นคำตอบได้”
ข่าววงในระบุว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคมนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ชี้ชะตาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะกำลังจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีตามลำดับขณะเดียวกัน ก็มีความหวั่นเกรงว่า ด้วยความเย้ายวนของผลประโยชน์อันมหาศาลที่อยู่เบื้องหลังตลาดนมผงเลี้ยงทารก ที่หากทำให้คนไทย “ลืมนมแม่” ไปได้สนิทใจ ก็จะมีจำนวนผู้บริโภคขั้นต้นเท่ากับทารกที่เกิดใหม่ในประเทศไทยแต่ละปี คือ 8 แสนคน คูณด้วยเม็ดเงินค่านมผงที่ว่ากันว่ามีตัวเลขขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นบาทต่อครอบครัวต่อปี หรือเท่ากับเกือบ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี จะทำให้ร่างกฎหมายนี้ “แท้ง” ไปได้ง่ายๆ ทั้งที่เนื้อหาสาระในร่างกฎหมายไม่ได้มีอะไรเกินเลยไปกว่าสิ่งที่รองอธิบดีกรมอนามัยยืนยัน นั่นคือ เป็นเพียงแต่ควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งประเทศต่างๆ นำมาพัฒนาเป็นกฎหมายมานานถึง 30 ปีแล้ว
นี่จะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งถึง “ความเจริญ” ของสังคมไทย ในสิ่งที่เพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างกัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก้าวผ่านกันไปนานแล้ว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น