xs
xsm
sm
md
lg

ไทยควรออก กม.ห้ามขายบุหรี่แยกมวน ชี้ 97 ประเทศทำแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศจย. ชี้ 97 ประเทศคลอดมาตรการ ห้ามขายแยกมวนแล้ว ยันไม่กระทบรายได้ภาษี เหตุปรับอัตราภาษีต่อซองสูงขึ้นทดแทน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการกลุ่มศึกษานโยบายด้านการช่วยเลิกบุหรี่ระดับประชากร สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตามมาตรา 16 ของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบในเด็กและเยาวชน ประกอบด้วยแนวทางสำคัญ 3 ด้าน คือ ห้ามขายบุหรี่โดยผู้เยาว์, ห้ามขายให้ผู้เยาว์ และห้ามขายแบบแยกมวน หรือขายเป็นซองเล็กๆ นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณามาตรการป้องกันเด็กและวัยรุ่นเข้าถึงบุหรี่ได้ยากมากขึ้น นอกเหนือจากมาตรการทางภาษีและราคาที่จะช่วยป้องกันให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น มาตรการที่ควรศึกษาหรือบังคับใช้เพิ่มเติมคือ การจำกัดจำนวนร้านค้าปลีก (Retail stores)

“จากที่มีการถกเถียงถึงความเหมาะสมของการนำมาตรการห้ามขายแบบแยกมวนมาใช้ในประเทศไทยนั้น จากฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า มี 97 ประเทศแล้ว ที่ดำเนินงานตามมาตรา 16 ของ FCTC ในเรื่อง การห้ามขายบุหรี่แบบมวนหรือซองเล็ก “sale of cigarettes individually or in small packets prohibited” นอกจากนี้ การห้ามขายบุหรี่แบบแบบมวน จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีที่กระทรวงการคลังจะจัดเก็บมากนัก เนื่องจากมีตัวแปรที่สำคัญคืออัตราภาษีต่อซองที่กระทรวงการคลังสามารถปรับให้สูงขึ้น 2-5% เพื่อชดเชยกับปริมาณบุหรี่ที่ขายได้ลดลงไม่เกิน 5%” ผศ.ดร.สุนิดา กล่าว

ผศ.ดร.สุนิดา กล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 24 กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายยาเส้นหรือยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ” ดังนั้น พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 ได้ห้ามการขายแบบซองเล็กเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเสียภาษีเท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสงค์หรือความสามารถในการซื้อบุหรี่ของเยาวชน จึงจำเป็นต้องมีข้อห้ามการขายบุหรี่แบบแบบมวน ใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น