สธ. เร่งแก้ไขสถานะคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หวังลดวิกฤตการเงิน “รพ.ชายแดน” พร้อมจัดสรรงบรายหัวสูตรพิเศษต่างจากพื้นที่อื่น และประสานองค์กรอื่นๆ เข้าช่วยเหลือการรักษาประชาชนเพื่อนบ้าน มั่นใจแก้ปัญหา รพ. ขาดทุนระยะยาวได้
วันนี้ (17 ม.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.อุ้มผาง จ.ตาก พร้อมด้วย รมช.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารระดับสูงทั้ง สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า รพ.อุ้มผาง มีบทบาทพิเศษต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศ เพราะอยู่ชายแดนติดไทย - พม่า การเดินทางลำบาก รวมถึงรับภาระจากคนพม่าที่เดินทางข้ามมารักษาพยาบาล เนื่องจากปัญหาความมั่นคงทางการเมืองด้วย ปัญหาที่พบคือ เรื่องสาธารณูปโภค ถนน น้ำ ไฟฟ้า ยังไม่พอเพียง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่างตามมา เช่น อหิวาตกโรค มาลาเรีย วัณโรค สครัปไทฟัส ปัญหาการขาดสารอาหาร การดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และคนในพื้นที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากยังไม่ได้รับการพิสูจน์สถานะ ซึ่งมีจำนวนมากเกือบครึ่งของประชากร
ศ.นพ.รัชตะ กว่าวว่า อย่างไรก็ตาม รพ.อุ้มผาง ได้จัดบริการดูแลประชาชนท่ามกลางข้อจำกัดได้อย่างดี แต่ถ้ายังดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทุกคนจะทำงานหนัก ทรัพยากรการเงินจะไม่เพียงพอ จะต้องเร่งแก้ไข ทั้งระยะสั้นเพื่อให้โรงพยาบาลมีสภาพคล่องทางการเงิน จัดบริการต่อไปได้ และระยะยาวซึ่งวางแนวทาง 3 ประการ คือ 1. เร่งจัดการแก้ไขเรื่องที่โรงพยาบาลเผชิญอยู่ คือ ภาระค่าใช้จ่ายรองรับคนไทยไร้รัฐ ไร้สถานะ ไร้สิทธิ์ และการการเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่ายังมีช่องว่างในการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มคนไทยที่รอพิสูจน์สัญชาติ คนไร้รัฐ ได้เข้าสู่การขึ้นทะเบียน 13 หลัก และเข้าสู่สิทธิประกันสุขภาพ จะเริ่มดำเนินการทันทีโดยประสานการทำงานกับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด
2. การจัดสรรงบประมาณ มี 2 ส่วนคือ งบรายหัวจาก สปสช. และ สธ. โดยจะให้แยกพิจารณาในพื้นที่ที่ห่างไกล หรือมีบริบทพิเศษ เพื่อจัดสรรงบให้เหมาะสม ไม่ใช้สูตรเดียวกับโรงพยาบาลอื่นๆ ในพื้นที่ปกติ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เผชิญทั้งจำนวนประชากรมีน้อย มีพื้นที่ทุรกันดาร และมีภารกิจพิเศษต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การดูแลผู้ป่วยไร้รัฐ ไร้สัญชาติ คนต่างด้าว ตลอดจนการบริหารจัดการต่างๆ ซึ่งจะเริ่มงบประมาณ 2559 ช่วงขาขึ้นเป็นต้นไป รวมทั้งเพิ่มการจัดสรรงบประมาณจาก สธ. ซึ่งมีทั้งงบลงทุน งบด้านอื่นๆ เพื่อเสริมให้โรงพยาบาลที่มีบริบทคล้ายกับโรงพยาบาลอุ้มผางด้วย และ 3. จะใช้กลยุทธ์อื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ในแถบชายแดนที่รับภาระดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งในเชิงมนุษยธรรมจะมีองค์การต่างประเทศที่พร้อมจะให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว สธ.จะเป็นแกนกลางประสานแนวทางเพื่อขอรับการสนับสนุนให้ช่วยประเทศเพื่อนบ้านด้วย รวมทั้งงบแหล่งอื่น เช่น จากกระทรวงการต่างประเทศ องค์การไจก้า จะหารือกันขึ้นต่อไป หรือหาแหล่งจากประชาสังคมอื่นมาช่วย
“มั่นใจว่าในระยะยาวน่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้และทำให้โรงพยาบาลอุ้มผางและโรงพยาบาลชายแดนอื่นๆ ให้สามารถดำเนินการจัดบริการต่อไปได้ ตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งถือว่าที่โรงพยาบาลอุ้มผางได้สร้างศักยภาพที่ดีเยี่ยมเรื่อยมา เป็นที่น่าชื่นชม” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่