xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มยุโรปเข้าไทยไม่ติดอีโบลา พบป่วยมาลาเรียรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบชายชาวยุโรปต้องสงสัยป่วยอีโบลาอีกราย หลังเดินทางมาจากไลบีเรีย เมื่อปลายปี 2557 ล่าสุด ผลตรวจเลือดระบุชัด ป่วยด้วยเชื้อมาลาเรียรุนแรง ขณะที่สถานการณ์แอฟริกาตะวันตกยังพบการติดเชื้อในกลุ่มอาสาสมัครเพิ่มขึ้น ยังขาดการอบรม ไม่ระมัดระวัง

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสอีโบลายังพบการระบาดใน 3 ประเทศ ได้แก่ กินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2557 พบการระบาด 19,727 คน เสียชีวิต 7,708 คน และพบว่า มีการติดเชื้อในกลุ่มอาสาสมัครรายใหม่ที่เพิ่งไปพื้นที่มากขึ้น คาดว่าเป็นเพราะขาดความระมัดระวัง หรือยังไม่ได้รับการอบรม ซึ่งทำให้กลุ่มอาสาสมัครเหล่าได้กระจายไปรักษายังประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็พบมีผู้สงสัยที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดเช่นกัน

นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ต้องสงสัยอีกรายเป็นวิศวกรเพศชาย ชาวยุโรป เดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย เข้าไทยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2557 เริ่มมีไข้วันที่ 26 ธ.ค. และมีประวัติเดินทางท่องเที่ยวที่พัทยา เริ่มเข้ารับการรักษาที่ รพ.กรุงเทพ-พัทยา จากนั้นย้ายมารับการรักษาที่ รพ.ราชวิถี เบื้องต้นจากการตรวจเลือดอย่างละเอียด พบว่า มีเชื้อมาลาเรียรุนแรง และจากการซักประวัติทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับประทานยาต้านมาลาเรียมาก่อน ทำให้ไม่แสดงอาการ ร่างกายกดภูมิไว้ ทำให้ตรวจวินิฉัยได้ยาก

นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้อาการดีขึ้น และย้ายไปรักษาที่ รพ.บำรุงราษฎร์แล้ว ทั้งนี้ ในต่างรปะเทศมีการให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางมาประเทศเขตร้อนให้รับประทานยาบต้านมาลาเรีย แต่ไทยซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโรค ห้ามให้รับประทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้วินิจฉัยโรคยาก และปัจจุบันเหลือผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคในไทยเพียง 5 คนเท่านั้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยพบผู้ป่วยมาลาเรียปีละประมาณ 20,000 ราย เป็นคนไทยและต่างชาติครึ่งต่อครึ่ง ส่วนใหญ่พบในสัญชาติพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดนและข้ามมารักษาในประเทศไทย คนไทยป่วยโรคนี้น้อยลง สำหรับในทวีปแอฟริกาตะวันตก เป็นพื้นที่พบโรคมาลาเรียจำนวนมาก การกินยาป้องกันโรคมาลาเรียก่อนเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันล่วงหน้า เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประการสำคัญยาจะมีฤทธิ์ทำให้อาการป่วยไม่ชัดเจน ทำให้วินิจฉัยโรคได้ช้าและได้รับการรักษาช้าตามไปด้วย อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด เช่นนอนในมุ้ง ทายากันยุง และหากมีอาการป่วยคือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ บางรายอาจจับไข้วันเว้นวัน หลังออกจากพื้นที่ประมาณ 15 วัน ขอให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น เพราะโรคนี้มียารักษาหายขาด แต่อาจติดเชื้อซ้ำได้อีก หากเข้าไปในพื้นที่ระบาดโดยไม่ป้องกันยุงกัด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น