xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ให้กรมศิลป์ มอบประติมากรรมหินทราย 16 รายการ คืนเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม. มีมติเห็นชอบให้ กรมศิลป์ ส่งมอบโบราณวัตถุ ประเภทประติมากรรมหินทราย จำนวน 16 รายการ คืนเขมร ซึ่งยึดได้ตั้งแต่ปี 43 ที่มีการขนเข้าไทยผิด กม. หลังกรรมการ - ผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ทั้งรูปแบบ วัสดุ และลักษณะศิลปะเฉพาะ ชี้ชัดเป็นโบราณวัตถุเขมร

วันนี้ (13 ม.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมอบโบราณวัตถุคืนให้กัมพูชา จำนวน 16 รายการ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2543 กรมศุลกากรตรวจยึดไว้จากการตรวจจับโบราณวัตถุเขมรประเภทประติมากรรมหินทราย ที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย ที่ท่าเรือจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโบราณวัตถุดังกล่าวนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ 43 ชิ้น และได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2538 และเมื่อคดีสิ้นสุดลง กรมศุลกากรได้นำโบราณวัตถุของกลางที่ยึดไว้และตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามมาตรา24 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 จากนั้นส่งมอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ ณ คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจพิสูจน์ และในปี 2550 - 2551 กัมพูชาขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาส่งคืนโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาต่อมาในปี 2552 กรมศิลปากร ได้พิสูจน์ที่มาของโบราณวัตถุดังกล่าวแล้ว มีมติส่งคืนโบราณวัตถุ จำนวน 7 รายการคืนให้กัมพูชาจึงยังคงเหลือโบราณวัตถุอีก 36 รายการ ซึ่งโดยคณะกรรมการของกรมศิลปากร ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ตรวจแล้วพบว่ามีโบราณวัตถุ 16 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนั้น เห็นว่าควรส่งมอบโบราณวัตถุดังกล่าวมอบให้กัมพูชา เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยตระหนักถึงเงื่อนไขในข้อตกลงทวิภาคีดังกล่าว

นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การโบราณวัตถุทั้ง 16 รายการที่ส่งมอบคืนนั้น ได้แก่ 1. องค์เทวรูปหินทรายศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 2. ส่วนองค์เทวรูปหินทราย ศิลปะเขมรแบบบายน  พุทธศตวรรษที่ 18 3. เทพธิดาหินทราย ศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ 17 4. กลีบขนุนรูปโยคีหินทรายศิลปะเขมรแบบบันทายสรี ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 5. กลีบขนุนรูปโยคีหินทราย ศิลปะเขมรแบบบันทายสรี ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 และรายการที่ 6 - 9 เป็นหัวสิงห์ หินทราย ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนรายการที่ 10 - 16 เป็นสิงห์หินทรายศิลปะเขมรพุทธศตวรรษที่ 15 อย่างไรก็ตาม ในส่วนหลักเกณฑ์การตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของคณะกรรมการนั้น ยึดหลัก ดังนี้ 1. รูปแบบศิลปกรรม ซึ่งตรงกับศิลปกรรมที่สลักขึ้นมีลักษณะเป็นของประเทศกัมพูชา 2. วัสดุที่ใช้แกะสลักนั้น เป็นหินทราย ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา และ 3.ลักษณะเฉพาะของศิลปวัตถุ อาทิ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ที่ปรากฏอยู่ในศิลปวัตถุมีลักษณะศิลปกรรมเป็นของประเทศกัมพูชา
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
 


กำลังโหลดความคิดเห็น