xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.งง! แปะเจี๊ยะรับเด็กพุ่ง 600 ล.

เผยแพร่:

ศธ. งง! ตัวเลข ป.ป.ช.ค่าแปะเจี๊ยะรับเด็กปี 57 สูงกว่า 6 ร้อยล้าน ยันไม่มีนโยบายให้รับแปะเจี๊ยะ “ณรงค์” หนักใจชี้เป็นความสมยอมสองฝ่าย แต่ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย ด้าน “กมล” ระบุหากใครมีข้อมูลให้ส่งมาพร้อมฟันผู้บริหารทันที
วันนี้ (9 ม.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ระบุถึงผลการสำรวจของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการเก็บค่าแปะเจี๊ยะของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)พบว่า ในปี 2542 โรงเรียนมีการเก็บเงินค่าแปะเจี๊ยะ เพียง 190 ล้านบาท แต่ในปี 2557 มีการเก็บเงินค่าแปะเจี๊ยะถึง 640 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าถ้ามีการจ่ายเงินตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เข้าเรียนได้และไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่เป็นเรื่องธรรมดาเด็กก็จะใช้เงินซื้อทุกอย่างไปทั้งชีวิตและแม้ว่า ศธ.จะมีประกาศชัดเจนห้ามจ่ายเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกที่นั่งเรียน แต่ในทางปฎิบัติก็ยังมีอยู่ ว่า ขณะนี้ในปีการศึกษา 2558 ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการรับนักเรียน แต่ข้อมูลตามที่ ป.ป.ช.ระบุมาว่าเป็นข้อมูลการจ่ายแปะเจี๊ยะของปี 2557 นั้นตนยังไม่ทราบรายละเอียด ทั้งนี้ ที่ผ่าน ศธ.และ สพฐ. ได้กำชับเรื่องการห้ามรับแปะเจี๊ยะมาโดยตลอด โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็เน้นย้ำเรื่องดังกล่าวมาต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ยืนยันว่า ศธ.ห้ามไม่มีการรับแปะเจี๊ยะแน่นอน
“ในความเป็นจริงเรื่องนี้ก็ลำบากเพราะเป็นความสมยอมกัน เพราะพ่อแม่ก็ยอมจ่ายโรงเรียนก็รับ จึงมีโอกาสเป็นไปได้แต่จะต้องดูข้อเท็จจริงด้วยว่ามากน้อยแค่ไหน แต่ยืนยันว่า ศธ.กำชับและห้ามไม่ให้มีการรับแปะเจี๊ยะ”พล.ร.อ.ณรงค์
ด้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าที่มาของข้อมูลที่ปรากฎออกมานั้นเป็นการเก็บข้อมูลจากอะไร เช่น ข้อมูลที่โรงเรียนได้รับเงินบริจาคแล้วมานับเป็นจำนวนเงิน หรือเป็นเงินที่จ่ายให้ผู้บริหาร ครูเป็นการส่วนตัวโดยไม่เอาเงินเข้าโรงเรียน หรือกรณีรับนักเรียนแล้วนำเงินเข้าโรงเรียน ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ สพฐ.ก็ไม่อนุญาตแล้วถือว่ามีความผิด เป็นต้น ดังนั้น ขอตรวจสอบข้อมูลที่ทาง ป.ป.ช.ระบุมาก่อน แต่ยืนยันว่า สพฐ.กำหนดนโยบายชัดว่าระหว่างที่ดำเนินการการรับนักเรียนห้ามรับแปะเจี๊ยะ โดยมีเงื่อนไขแลกที่นั่งในชั้นเรียน หรือจะรับมาก่อนแล้วจ่ายที่หลังก็ห้ามเด็ดขาด รวมทั้งโรงเรียนต้องไม่จัดกิจกรรมระดมทรัพยากรช่วงนี้ด้วย แต่เมื่อสิ้นสุดการรับนักเรียนโรงเรียนจะดำเนินกิจกรรม เช่น ทอดผ้าป่าการศึกษา เพื่อระดมทรัพยากรเข้าโรงเรียนสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใดมีข้อมูลแน่ชัดว่าพบการกระทำเรียกแปะเจี๊ยะขอให้ส่งมาที่ สพฐ. เพื่อจะได้ลงโทษผู้บริหารที่รับแปะเจี๊ยะต่อไป

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น