โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
ตลอดปี 2557 ที่ผ่านมา จะเห็นข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาตลอด โดยเฉพาะช่วงท้ายปียิ่งฟาดฟันกันอย่างรุนแรง กับประเด็นการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ที่โยงเกี่ยวกับสาเหตุของโรงพยาบาลขาดทุน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีประชากรน้อย อันเนื่องมาจากการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวแบบเดิม ซึ่งฝั่ง สธ.ยืนยันถึงเสียงของคนทำงานในพื้นที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ต้องปรับแก้ไข ขณะที่ สปสช.ก็ยืนยันว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีมากอยู่แล้ว
ทั้งหมดสะท้อนว่า “เงิน” ในระบบสุขภาพยังคงเป็นปัญหา ที่สร้างความกินแหนงแคลงใจระหว่างผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ แต่คนที่หวั่นใจที่สุดต่อเรื่องเหล่านี้เห็นจะไม่พ้น “ผู้รับบริการ” หรือประชาชนโดยทั่วไป ที่กังวลว่าปัญหาความขัดแย้งจะส่งผลต่อการให้บริการหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่อง “เงินๆ ทองๆ” นี้ คงไม่สามารถเคลียร์ให้จบสิ้นไปได้โดยง่ายในปี 2558 เพราะเป้าหมายการปฏิรูประบบสุขภาพของ สธ.คือ ด้วยกลไกเขตสุขภาพที่จะเข้ามาช่วยทั้งเรื่องการเกลี่ยงบบัตรทองช่วยโรงพยาบาลขาดทุน การบริหารทรัพยากรร่วมกัน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะในระดับอำเภอ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องไป “แตะ” กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เมื่อกางพิมพ์เขียวการปฏิรูประบบสุขภาพออกมาดู จะพบว่า สธ.มีการดำเนินการสร้างเขตสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่รวดเร็ว หวือหวา แต่ก็มีความคืบหน้าไปบ้างตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2555 โดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. อธิบายว่า เขตสุขภาพที่กำลังดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การพัฒนาตามกลุ่มวัย มีทั้งหมด5 กลุ่มคือ ปฐมวัยและสตรี วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุและคนพิการ โดยเน้นในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมและป้องกันโรค และ 2.คือระบบบริการ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้มีคุณภาพ โดยอาศัยการทำ Service Plan คือการพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 10 สาขาหลักที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศในแต่ละเขต เช่น มะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ ทารก เป็นต้น โดยเชื่อมกับงานสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย ซึ่งการดำเนินงานในปี 2558 ก็เป็นการต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้ที่ สธ.กำลังดำเนินการอยู่
อย่างประเด็นการพัฒนาตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในปี 2558 ของแต่ละเขต นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข เปิดเผยว่า แต่ละเขตก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 10 สาขาที่เราให้เขาพัฒนาบางเขตก็สามารถทำบางเรื่องได้แล้ว บางเขตอาจจะยังขาดบางเรื่องอยู่ เขาก็มีแผนพัฒนาของเขา อย่างปี 2558 นี้ก็อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการลงไปแล้ว แต่โดยรวมคงยังไม่แล้วเสร็จในปี 2558 อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ เช่น ต้องรอตึกสร้างเสร็จ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรอในเรื่องของโครงสร้างก็จะมีการพัฒนาในเรื่องศักยภาพของบุคลากรไปด้วย เช่น เรื่องที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการให้ยา เช่น ให้ยาขยายลิ่มเลือด ก็ใช่ว่าจะทำเป็นได้เลย ก็ต้องมีการอบรม มีการพัฒนาบุคลากรและระบบให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น แต่เชื่อว่าขณะนี้แต่ละเขตก็พัฒนาในเรื่องของศูนย์เชี่ยวชาญได้ค่อนข้างใกล้เคียงกัน
นอกจากเรื่องนี้ สิ่งที่ สธ.จะดำเนินการเพิ่มในปี 2558 ยังมีเรื่องของทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ที่ สธ.มอบให้กับคนไทยทุกคน โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ทีมหมอครอบครัวจะประกอบไปด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาล นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ ที่จะร่วมช่วยกันดูสุขภาพของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต เป็นหมอใกล้บ้านที่จะมาเน้นในเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งดีกว่าการมารักษาโรคหลังจากที่ป่วยแล้ว โดยเล็งที่จะขยายทีมหมอครอบครัวไปทั่วประเทศ โดยจะนำงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของบัตรทองมาจัดสรรใหม่ ในการจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรในทีมหมอครอบครัวด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเสริมทัพด้วยทีมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ดูแลระบบนั่นคือ Care Giver และ Care Manager ซึ่งจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศใน เม.ย.2558เช่นกัน
แต่ที่น่าห่วงก็คือ เมื่อมีแผนดำเนินการหลายอย่างก็จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับหน่วยงานที่ส่วนในการดูแล โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งอย่างไรเสียก็ไม่เพียงพอ
โดยแหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข วิเคราะห์ให้ฟังว่า สิ่งที่ สธ.ดำเนินการถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่ปัญหาคือตั้งแต่เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น ส่งผลให้คนเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น ยิ่งปัจจุบันผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นมาก ความต้องการในการใช้บริการในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นมาก เรียกว่า Demand สูง เติบโตเร็วมาก ขณะที่ Supply ในฝั่งผู้ให้บริการเติบโตช้า ทั้งในส่วนของ “คน-เงิน-สิ่งของ” จึงเกิดความไม่สมดุลกันจนเป็นปัญหาระบบสุขภาพที่จะต้องแก้ไข อย่างเรื่องเงินก็จะเห็นได้ว่างบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองถูกแช่แข็ง ได้รับงบประมาณเท่าเดิมมา 3 ปี แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ภาวะเงินที่เฟ้อขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น การได้เงินรายหัวเท่าเดิมก็เท่ากับว่าโรงพยาบาลมีรายรับเข้ามาน้อยลง ขณะที่คนหรือทรัพยากรบุคคลเองก็ประสบปัญหาไม่เพียงพอ การขออัตรากำลังคนด้านสาธารณสุขยังเป็นไปอย่างจำกัด
“หากต้องการพัฒนาระบบสุขภาพไปให้ไกลถึงฝั่งฝัน ประสบความสำเร็จ รัฐสวัสดิการเช่นนี้รัฐก็ต้องจัดให้อย่างเต็มที่ทั้งกำลังคน เงิน และสิ่งของต่างๆ รัฐบาลต้องออกแรงลงทุนหนักกว่านี้”
ตราบใดที่เงินและคนในระบบสุขภาพยังไม่เพียงพอ ต่อให้มีนโยบายเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ดีมากเพียงไร ก็เป็นอันต้องสะดุด และสุดท้ายก็ไม่พ้นที่ยักษ์ใหญ่วงการสุขภาพระหว่าง สธ.กับ สปสช.จะต้องหันมาฟาดฟันกันเองอีกเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น