xs
xsm
sm
md
lg

เร่งส่งทีมแพทย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 ชายแดนใต้ พบส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด น้ำกัดเท้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดภาคใต้น่าห่วง หนักสุดที่ปัตตานี สถานบริการเสี่ยงน้ำท่วม 2 แห่ง รพ.หนองจิก - รพ.สต.ปะกาฮารัง สธ.เร่งส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกบริการ มีผู้ประสบภัยรวมกว่า 2.5 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด น้ำกัดเท้า ยังไม่พบโรคระบาด

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวถึง การดูแลผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้บริการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยทุกวัน และจัดหมอประจำครอบครัว ออกให้การดูแลผู้ป่วยที่พักฟื้นอยู่ที่บ้าน เช่นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้พิการ และแจกยาชุดน้ำท่วมเพื่อให้ประชาชนใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น หากเจ็บป่วยขณะมีน้ำท่วมขัง ได้แจกไปแล้ว 65,000 ชุด โดยวันนี้ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตอำเภอเมือง จ.ปัตตานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานพยาบาลเสี่ยงน้ำท่วม 2 แห่ง คือรพ.หนองจิก ถนนทางเข้ารพ.น้ำท่วมสูงประมาณ 40 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังกั้นกระสอบทราย ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 4 เครื่องสูบน้ำออกตลอดเวลา เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง และแห่งที่ 2 คือรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลปะกาฮารัง เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขได้กั้นกระสอบทราย และขนย้ายเครื่องมือบางส่วนไว้ในที่ปลอดภัย ยังให้บริการได้ตามปกติ ได้ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมจังหวัดปัตตานี เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและอำนวยการแก้ไขให้แก่พื้นที่ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในรอบ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 -28 ธันวาคม 2557 ออกให้บริการไปแล้ว 100 กว่าครั้ง พบผู้เจ็บป่วย 25,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยทั่วๆไปจากน้ำท่วม เช่นไข้หวัด น้ำกัดเท้า ผื่นคัน อาการไม่รุนแรง จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบโรคระบาดทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่น้ำลดลงแล้ว ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทำการฟื้นฟูระบบสุขาภิบาล สูบล้างบ่อน้ำ ใส่คลอรีนฆ่าเชื้อ ปรับปรุงสภาพน้ำให้ปลอดภัยต่อการใช้อุปโภค และให้เฝ้าระวังโรคหลังน้ำท่วม ที่สำคัญ เช่นโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งพบได้บ่อย หากประชาชนป่วย มีไข้สูง ปวดศีรษะ และมีอาการปวดเมื่อย โดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อน่องและโคนขา ตาแดง ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง โรคนี้มียารักษาหายขาด

ในการป้องกันโรคฉี่หนู หากประชาชนจำเป็นต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือต้องทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ขอให้สวมรองเท้าบู๊ทยาง หรือรองเท้าที่มีพื้นหนาและสวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล รีบชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากเสร็จภารกิจ ให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติตัว คือกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและร้อน ดื่มน้ำสะอาด และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ภายหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น