xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านขับไล่ผู้ป่วยเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
และที่ปรึกษาด้านเอดส์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ยังไม่ถึงเดือนที่คนไทยได้ยินข่าวดีที่ยูเอ็นชื่นชมไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า มีความเข้าใจเรื่องเอดส์อย่างลึกซึ้ง ก็มีข่าวว่าเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ชาวบ้านตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้ลงประชามติ 131 ต่อ 30 เสียงให้ย้ายผู้ป่วยเอดส์ที่อยู่ในบ้านพักของมูลนิธิกระท่อมพระสิริ ออกจากชุมชน เพราะชุมชนกลัวจะติดเชื้อจากผู้ป่วย ทำให้ไม่มีคนกล้าเข้ามาเช่าห้องเช่าในชุมชน

...ฟังแล้วเศร้าใจ เพราะไม่คิดว่าสังคมยังไม่เข้าใจว่าจะอยู่กับผู้ติดเชื้อได้อย่างไร ทั้งที่เรารณรงค์เรื่องนี้มา 30 ปีเต็มจนถึงวันนี้ เราพยายามบอกว่าการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อในบ้านเดียวกัน ที่ทำงานเดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน อำเภอเดียวกัน ไม่ติดเอดส์ เพราะเชื้อเอชไอวีไม่สามารถติดต่อกันได้ทางลมหายใจ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ยุง เหงื่อ หรือทางสัมผัส แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เชื่อ จึงมีเหตุการณ์อย่างที่หนองปรือเกิดขึ้น หรือมีการห้ามไม่ให้คนติดเชื้อเข้าทำงาน หรือมีการไล่พนักงานที่ติดเชื้อออกจากงาน เป็นต้น

เรื่องลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จะโทษใครดี?

จะไปโทษชาวบ้านก็ไม่ได้ เพราะเขาเข้าใจและเชื่อแบบนั้น จะไปโทษเทศบาลตำบลหนองปรือก็ไม่ได้ เพราะเขาอุตส่าห์ให้ทำประชาพิจารณ์ และมีการลงประชามติอย่างเสรี จะไปโทษผู้ติดเชื้อก็ไม่ถูก เพราะเขาไม่มีที่จะไป ญาติพี่น้องไม่รับ ไม่มีงานทำ เมื่อมีองค์กรการกุศลมาสร้างบ้านพักให้ เขาก็มาอยู่ จะไปโทษองค์กรการกุศลก็ไม่ถูก เพราะเขาก็คงอยากอยู่ในชุมชน ไม่อยากไปอยู่ในป่าลึก เพราะคงลำบาก และก็อาจมีชาวบ้านมาไล่อีกก็ได้ ถ้าจะโทษก็คงต้องโทษผู้รู้ และผู้รับผิดชอบว่ายังไม่สามารถถ่ายทอดความจริงให้ชาวบ้านยอมรับได้ ผู้รู้หมายถึงแพทย์ (ซึ่งรวมถึงผู้เขียนด้วย) พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ (สมาคมโรคเอดส์ แพทยสมาคม ฯลฯ) ผู้รับผิดชอบก็เช่น กระทรวงสาธารณสุข สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (รวมทั้งศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย) และชมรมผู้ติดเชื้อต่างๆ

ผู้รู้และผู้รับผิดชอบไม่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง การทำความเข้าใจก็อาจไม่ชัดเจน ขาดสื่อหรือเทคนิคที่จะถ่ายทอดข้อมูลให้ชุมชนรับทราบอย่างถ่องแท้ หรือยังเข้าไม่ถึงผู้นำชุมชน หรือผู้นำด้านจิตวิญญาณของชุมชน ยังไม่รู้ลึกซึ้งถึงข้อกังวลที่แท้จริง และยังไม่มีวิธีการที่ได้ผลในการแก้ข้อกังวลนั้น

เรื่องที่เกิดขึ้นคงแพร่ไปในสื่อต่างประเทศในไมช้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียหน้ามากในสายตาต่างประเทศ หลายคนอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่น แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเรื้อรัง แก้กันมานานแล้วแต่ยังไม่ถูกจุด ปัญหาการกีดกันและแบ่งแยกผู้ติดเชื้อเป็นอุปสรรคสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้ว่าจะเห็นผลภายในปี 2563 เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่กล้าไปตรวจเอดส์ ผู้ติดเชื้อก็ไม่กล้าไปรักษา เพราะกลัวคนรู้ ซึ่งก็จะทำให้เชื้อเอชไอวีแพร่กระจายต่อไปเรื่อยๆ

การแก้ต้องแก้กันทั้งระบบ เกือบทุกกระทรวงทบวงกรมต้องมาช่วยกัน กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการต้องออกมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง กระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความรู้แก่นักเรียนในทุกระดับทั้งในเรื่องการป้องกันเอดส์ และการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีที่พักอาศัยและไม่มีงานทำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันจะมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนไทยทุกคนทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงยารักษาเอดส์ฟรี รักษาไป 2 - 4 สัปดาห์ สุขภาพก็จะกลับมาแข็งแรงตามเดิม สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ถ้าไม่ถูกนายจ้างไล่ออกจากงานไปเสียก่อน กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม สภาทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องช่วยกันออกมาคุ้มครองแรงงานที่ติดเชื้อไม่ให้ถูกไล่ออกจากงาน คุ้มครองไม่ให้นายจ้างกีดกันผู้สมัครงานที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเข้าทำงาน กระทรวงมหาดไทยต้องออกมาทำความเข้าใจกับชุมชนโดยผ่านองค์กรชุมชนในการยุติการตีตราและแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ กรมประชาสัมพันธ์และสื่อสาธารณะทุกสื่อต้องร่วมกันประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จะประชาสัมพันธ์กันเฉพาะช่วงวันเอดส์โลก

จะทำอย่างนี้ได้ รัฐบาลจะต้องเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และต้องทำอย่างจริงจัง ดึงทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง มีงบประมาณ และมีการกำกับติดตามผลอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับข้อเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ที่ให้นำเรื่องเอดส์เข้าบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ภายใน 10 ปี ทั้งด้านการป้องกัน การรักษา และการตีตรา

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น