ประชุม กมธ.รับฟังความเห็น ประธาน สปช.วางกรอบ 3 ประเด็น ลั่นการระดมความคิดเห็นต้องอยู่ในกรอบ รธน. ไม่ขัดกฎอัยการศึก อ้างเวทีต่างๆ ที่ถูก คสช.สั่งระงับ เป็นเพียงการนำคนเห็นต่างฝ่ายละ 1 คนมานั่งดีเบต ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ รับ 1 ปีอาจปฏิรูปไม่ทัน เล็งสร้างกลไกให้หน่วยงานอื่นนำไปสานต่อ
ที่รัฐสภา วันนี้ (19 พ.ย.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวภายหลังการร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ได้เล่าให้ฟังว่าภาระหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญชุดนี้มีความสำคัญอย่างไร และสปช.มีภาพวาดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญชุดนี้อย่างไร สิ่งสำคัญได้สะท้อนให้เห็นว่า กมธ.ชุดนี้มีความสำคัญกว่ ากมธ.ปฏิรูป 18 คณะ และ กมธ.วิสามัญคณะอื่นๆ เห็นได้จากการมีบุคคลภายนอกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจาก 8 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมเป็นกมธ.การมีส่วนร่วม ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน จำเป็นต้องให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ ในการรับฟังความเห็นต่อการปฏิรูปมี 3 ประเด็น คือ 1. เริ่มการปฏิรูปจากข้อมูลที่มีอยู่ 2. การกับฟังความคิดเห็นประชาชนในประเด็นภาพของอนาคต เนื่องจากผลการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปยังขาดมุมมองของอนาคต จึงต้องนำความเห็นประชาชนมาเติมเต็มส่วนนี้ และ 3. ต้องมีหลายช่องทางที่ให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้ในกรณีที่รับฟังความเห็น อาจจะได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปหรือเป็นเพียงข้อเสนอแนะ หรืออาจเป็นแค่การร้องทุกข์ ดังนั้น เวทีรับฟังความเห็นจะต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงจะสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้อีกครั้ง ประเด็นนี้นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. ได้ให้ความเห็นว่า การปฏิรูปอาจจะไม่เสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้นต้องมีกลไกที่จะให้หน่วยงานอื่นนำไปสานต่อหลังจากนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางการรับฟังความคิดเห็นนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขัดข้องหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า วิธีการที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยโครงสร้างของ กมธ.วิสามัญที่ประกอบด้วย 8 หน่วยงานสำคัญ จะเห็นได้ว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงเข้ามาร่วมด้วย และยังมีสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสถาบันพระปกเกล้า ที่ถือเป็นหน่วยงานทางวิชาการ และมีระเบียบวิธีในการรับฟังความเห็น จึงมั่นใจได้ว่าการเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีอคติ จะมีการตั้งโจทย์การรับฟังความเห็นอย่างชัดเจน
สำหรับรูปแบบการจัดเวทีจะทำได้ 2 รูปแบบ คือ การเปิดเวทีให้กับกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกโดยหลักทางสถิติ เช่น เพศ อายุ มาให้ความเห็น เวทีนี้อาจจะทำเป็นจำนวนร้อยละ 80 และเวทีที่เปิดขึ้นโดยทั่วไป เพื่อเสนอความเห็นต่อการปฏิรูปจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 โดย สปช.อาจจะจัดเวทีขึ้นเอง ในรูปแบบของรายภาคหรือรายจังหวัด และอาจจะมีหน่วยงานอื่นที่จัดเวทีแล้วเชิญ สปช.ที่เกี่ยวข้องไปรับฟังเพื่อเก็บประเด็น ทั้งนี้ ยืนยันว่าการรับฟังความเห็นจะอยู่ภายใต้หลักการปฏิบัติงานในกรอบของรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อกฎอัยการศึกแน่นอน
ส่วนขณะนี้มีเวทีวิชาการบางเวทีถูก คสช.สั่งห้ามไม่ให้ดำเนินการ นายเทียนฉายกล่าวว่า ต้องดูให้ดีว่าเวทีที่กล่าวมาเป็นเวทีรูปแบบใด ที่ถูกสั่งระงับเป็นเพียงตัวแทนความเห็นต่างฝ่ายละ 1 คน มาร่วมเวที และวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในเวทีรับฟังความเห็นจะเป็นเวทีวิชาการที่รับฟังข้อเสนอ และความเห็นที่เป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะมีคนไม่ร่วมเวทีรับฟังความเห็นของ สปช.ก็ยอมรับว่าก็มีความกังวล ซึ่งตนก็กังวลทุกเรื่อง แต่การประสานงานกันจะช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะในประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ กำชับให้ 5 องค์กร ทำงานร่วมกัน ขณะนี้ตนก็ยอมรับว่ายังอยู่ระหว่างการคิดหากระบวนการทำงานร่วมกัน แต่ยืนยันว่าจะไม่ใช่การตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมกันอย่างแน่นอน เพราะส่วนตัวมองว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาได้