“หมอรัชตะ” เบรกดรามาไล่ผู้ป่วยเอดส์จากชุมชนหนองปรือ ย้ำผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมคนสังคมได้ ไม่ติดต่อกันง่าย แต่ยอมรับการสร้างความเข้าใจ ลดการตีตรายังทำได้ไม่ดี เตรียมส่งทีม คร. เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ปรับทัศนคติ 21 ธ.ค. นี้ ด้านเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ชี้ย้ายศูนย์พักพิงไม่ใช่ทางออก หวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างชุมชนต้นแบบลดการตีตรา
วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 14 และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 ว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อเอชไอวีของไทยในรอบ 30 ปี มีผูติดเชื้อผู้ใญ่สะสม 1.2 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 7 แสนคน ส่วนภาพรวมในปี 2557 ถือว่าดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อเดิมและยังมีชีวิต 4.4 แสนคน จำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 7,525 คน โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 22 คน ร้อยละ 98 เป็นผู้ใหญ่ ผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 56 คน สะท้อนว่าอัตราการเพิ่มของโรคลดลง โดยคณะกรรมการเอดส์ชาติตั้งเป้าว่าจะยุติปัญหาเอดส์ภายใน 16 ปี หรือปี 2573 คือ ไม่มีเด็กแรกคลอดติดเชื้อเอชไอวี ผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกินปีละ 1,000 คน และผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าถึงยาต้านไวรัส ไม่มีการตีตรา และการเลือกปฏิบัติ โดยประกาศเป็นวาระชาติ 3 เรื่อง คือ ลดอัตราจากการใช้สารเสพติด เพราะอัตราการติดเชื้อจากการฉีดยาเสพติดร่วมกันสูงถึง 80% ระดมหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นแก้ไขปัญหา และเพิ่มงบประมาณด้านเอดส์ในปี 2558 - 2562 ปีละ 1,700 - 1,900 ล้านบาท เพื่อทดแทนงบประมาณจากกองทุนโลกฯที่ลดลง และจะสิ้นสุดในปี 2559
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อยุติปัญหาเอดส์มี 5 มาตรการ ได้แก่ 1. ขยายความครอบคลุมงานป้องกันโรค โดยเน้นทำงานเชิงรุกคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้คำปรึกษารวดเร็ว และตรวจเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยงครอบคลุมร้อยละ 90 2. รักษาผู้ติดเชื้อทุกคนด้วยยาต้านไวรัสฯ โดยไม่คำนึงถึงค่าระดับเม็โเลือดขาว (CD4) และตรวจวินิจฉัยทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อภายใน 2 เดือน เพื่อเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ โดยเร็วที่สุด เพราะจัช่วยป้องกันโรคได้ 3. สนับสนุนผูติดเชื้อฯ กินยาต้านไวรัสฯ สม่ำเสมอ คงอยู่ในระบบบริการต่อเนื่องมากกว่า 90% 4. เสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ระบบชุมชน บูรณาการงานป้องกันและรักษา ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ถือเป็นสิทธิประโยชนในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ และแรงงานข้ามชาติ และ 5. สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนว่าเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องธรรมดา สามารถอยู่ร่วมกันได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีตำบลหนองปรือมีมติให้ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ป่วยเอดส์ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านต้องออกจากพื้นที่ สะท้อนถึงการตีตราจากสังคม สธ. จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยเอดส์ที่ถูกขับไล่ และสร้างเข้าใจกับชุมชนอย่างไร ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเอดส์ถือว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจในระดับหนึ่ง การทำงานค่อนข้างได้ผลทั้งในเรื่องของการคัดกรอง การรับยาต้านไวรัสฯ การให้ความรู้ต่อประชาชนทั่วไป แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่สมบูรณ์นัก จึงยังคงมีกรณีการตีตราเช่นนี้เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่ความรับผิดชอบของ สธ. เท่านั้น แต่ทุกหน่วยงาน รวมถึงภาคีเครือข่ายต้องเข้าไปช่วยดูแล แต่เท่าที่ทราบคือยังไม่มีการย้ายออกในขณะนี้ ก็จะให้กรมควบคุมโรค (คร.) ส่งทีมลงไปทำความเข้าใจกับคนในชุมชนว่าสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะโรคเอดส์ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัส ทางอาหาร หรือทางเดินหายใจ โดยขอยืนยันว่าผู้ป่วยเอดส์สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอยู่ร่วมกับสังคมได้ หากรับยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยในศูนย์พักพิงดังกล่าวก็มีการรับยาต้านไวรัสฯอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เป็นปัญหา
“ ผู้ป่วยที่มาอยู่ในศูนย์พักพิง เพราะอาจประวบปัญหาบางคนไม่มีครอบครัว ยังไม่สามารถเข้าสู่สังคมตามระบบได้ ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแล ซึ่งศูนย์พักพิงเช่นนี้ในประเทศไทยมีไม่มาก การลดปัญหาการตีตราในระยะยาวจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจโดยบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน เช่น ตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยเรียน กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจที่ถูก วัยทำงานเป็นหน้าที่กระทรวงแรงงาน เป็นต้น ให้เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าผู้ป่วยเอดส์อยู่ร่วมกับสังคมได้ ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า สำหรับความช่วยเหลือผู้ป่วยหากต้องย้ายออกจากพื้นที่ก็จะให้ความช่วยเหลือเป็ยรายๆ ไป แต่โดยกรทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลร่วมด้วยว่าแต่ละรายจะแก้ปัญหาอย่างไร
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในชุมชนและพวกเราเป็นคนนอก คงต้องเข้าไปคุยกับคนในชุมชนก่อนว่าเขามีความกังวลในเรื่องใด ซึ่งวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ทางอธิบดี คร. เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯก็จะลงไปพูดคุยกับคนในชุมชน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ให้คนในชุมชนหรือฝ่ายองค์กรช่วยเหลือด้านเอดส์ต่างถูกต่อว่าถึงกรณีดังกล่าว แต่การปรับทัศนคติไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายภายในวันเดียว ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม มองว่าเรื่องนี้สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ อาจหารือพูดคุยให้หมู่บ้าน ตำบลดังกล่าวเป็นต้นแบบในการลดการตีตราผู้ป่วยเอดส์ เพราะการย้ายศูนย์พักพิงไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงการบรรเทาความรู้สึกในชุมชนเท่านั้น เมื่อย้ายไปพื้นที่อื่นก็จะยังเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก ที่สำคัญประชามติของชุมชนยังเป็นการทำบนพื้นฐานทัศนคติบนความไม่เข้าใจ จึงควรมาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดการอยู่อย่างเข้าใจ คนในชุมชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรไม่ให้ในชุมชนเกิดการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น เช่น การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น หรือลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยเอดส์ในชุมชนอย่างไร
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า กรณีนี้ตนไม่ทราบว่าตอนเข้าไปตั้งศูนย์พักพิงมีการเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชนอย่างไร แต่ศูนย์พักพิงถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยเอดส์แต่ไม่ควรมีจำนวนมาก และควรเป็นลักษณะชั่วคราว เพราะเราพยายามลดการตีตรา ผู้ป่วยเอดส์สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ ออกไปทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานสงเคราะห์ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เช่น ถูกออกจากงาน อยู่ในช่วงระยะเวลาในการปรับตัวจากการรับยาต้านไวรัส หรือไม่สามารถกลับบ้านได้ เนื่องจากความเปราะบางทางความสัมพันธ์ ศูนย์พักพิงก็จะช่วยดูแลจนมีความเข้มแข็ง สามารถกลับไปอยู่ในสังคม กลับไปทำงานได้ ซึ่งประเด็นสำคัญคือสถานประกอบการก็ต้องไม่ตีตรา เลิกการตรวจเลือดเพื่อประกอบการพิจารณาเข้าทำงาน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่