xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! โรคคอพอกมีแนวโน้มกลับมา ทำเตี้ย โง่ ไอคิวต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคขาดสารไอโอดีนมีแนวโน้มกลับมา ทำรูปร่างเตี้ย สมอง ไอคิวด้อยลง ขณะที่ผลสำรวจพบการใช้เกลือเสริมไอโอดีนไม่ถึงเป้าหมาย กรมอนามัยเตรียมเสริมการใช้เกลือเสริมไอโอดีน ติดตามกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (16 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน 3 ภาค ปี 2558” ว่า ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศยังคงมีอยู่ แม้แนวโน้มจะลดลง แต่การป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนหรือโรคคอพอกยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นโรคจะกลับมาอีก และมีผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากผู้ที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายและสมองเจริญเติบโตด้อยลง รูปร่างเตี้ย แคระแกรน ความฉลาดทางปัญญาด้อยกว่าปกติ

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากสถานการณ์การขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553-2556) พบว่าการแก้ไขปัญหาการขาดไอโอดีนของไทยในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแนวโน้มที่ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจะกลับมาอีก มาตรการหลักในการป้องกันและควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน คือ เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า ผลสำรวจในปี 2556 พบว่า ประชาชนใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด (20-40 พีพีเอ็ม) ร้อยละ 82.5 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้คือร้อยละ 90

“การแก้ปัญหาต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนเป็นประจำ ที่สำคัญคือความร่วมมือของภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน 3 ภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานในช่วงระยะปี 2557 - 2559 กรมอนามัยตั้งเป้าหมายให้ ประเทศไทยปลอดโรคขาดสารไอโอดีน เสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาวะที่ดีของทุกกลุ่มวัยก้าวไกลสู่อาเซียน โดยเน้นในเรื่อง 1. เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า มีการผลิตและกระจายเกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพ และบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ 2. มีระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในกลุ่มเสี่ยง 3. ขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนและหมู่บ้านไอโอดีนทั่วประเทศ มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนและชุมชน และการจ่ายยาเม็ดวิตามินเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดให้นมบุตรนาน 6 เดือน เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น