xs
xsm
sm
md
lg

ชง สปช.ดัน 7 นโยบายพื้นฐานการศึกษาแห่งรัฐ บรรจุในร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ศึกษาและพัฒนาทรัพยากร ชง 7 นโยบายพื้นฐานการศึกษาแห่งรัฐ ให้ สปช. พิจารณาบรรจุในร่าง รัฐธรรมนูญ “กมล” ระบุย้ำข้อสำคัญที่ต้องบรรจุ คือ ด้านการศึกษา และการกำหนดกลไกควบคุม ที่ต้องมีซุปเปอร์บอร์ดมากำกับดูแลการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการผลิตกำลังคนของประเทศ

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม สปช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา กมธ. ทั้ง 18 คณะได้เสนอแนวคิดและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าควรบรรจุเรื่องใดบ้าง ซึ่งในส่วนของ กมธ.การศึกษาและการพัฒนาฯ ได้เสนอสาระสำคัญ คือ หน้าที่พลเมือง บุคคลต้องมีหน้าที่เข้ารับการศึกษา และมีส่วนร่วมจัดการศึกษษา ได้รับการปลูกฝังทัศนคติและมีสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริต ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่วมรับผิดชอบสาธารณประโยชน์ของส่วนรวม มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบรวมทั้งเคารพในสิทธิ ความต่างหลากหลายทางด้านความคิดและศักยภาพบุคคลอื่น และสิทธิ เสรีภาพในการศึกษาของบุคคล โดยบุคคลมีสิทธิเท่าเทียมการในการจัดการศึกษา เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการศึกษาที่มีคุณภาพในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อการพัฒนาตนเองตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต รวมทั้งผู้พิการ ผู้ยากไร้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น นอกจากนี้ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชากรย่อมได้รับความคุ้มครอง ซึ่งต้องไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีจองประชาชนและความเป็นเอกภาพของชาติ

นายกมล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ได้เสนอแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ด้านการศึกษาที่สำคัญ 7 เรื่อง ดังนี้ 1. การศึกษา คือ การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ จึงต้องกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติที่มีความสำคัญสูงสุด โดยต้องมีความเชื่อมโยงกับนโยบาบการพัฒนาทุกด้านและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความสามารถในการแข่งขันและการธำรงรักษาเอกลักษณ์ของสังคมไทย 2. รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน องค์กรอื่นๆ และรัฐต้องปรับเปลี่ยนและลดบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงการกำกับนโยบาย แผน มาตรฐานและติดตามประเมินผล 3. รัฐจ้องส่งเสริมความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษาให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อคุณภาพของผลการจัดการศึกษา

4. การจัดการศึกษาต้องสร้างความเป็นธรรรมขจัดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยรัฐต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพียงพอต่อการได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพแก่ผู้เรียน ตั้งแต่ปฐมวัยถึงการศึกษาภาคบังคับ ตามความแตกต่างของผู้เรียนและสถานศึกษา 5. การจัดการศึกษาต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่หลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาระบบครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ปราชญ์ชาวบ้านรวมถึงผู้ที่มีความรู้ต่างๆ ที่ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียน ที่เป็นสากลและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมีความหลากหลายตามบริบทและความแตกต่างของภูมิสังคม เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้และความสามารถในการประกอบอาชีพการงานของบุคคลตลอดชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 6. รัฐต้องส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ในสังคมไทยโดยให้มีแหล่งเรียนรู้และสื่อสาธารณะด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะวัฒนธรรมและศาสนา เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทยที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และ 7. นโยบายการศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากกลุ่มผลประโยชน์

ภายหลังจากนี้จะต้องมีการคิดปรับรูปแบบค่าจ่ายรายหัวใหม่ ดูตามสถานะโรงเรียน พื้นที่และสถานะบุคคลด้วยตรงนี้ต้องมาจัดระบบใหม่ ทั้งนี้สปช.จะเป็นผู้พิจารณาว่าใน 7 ข้อดังกล่าวข้อใดบ้างควรเสนอเพื่อบรรจุร่างรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวผมมองว่าประเด็นสำคัญที่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ ข้อที่ 1 นโยบายด้านการศึกษาระดับชาติเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศและข้อที่ 7 ที่ต้องกำหนดกลไกไม่ให้มีการแทรกแซง โดยอาจจะต้องมีซุปเปอร์บอร์ดที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มี รมว.ศึกษาธิการ รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลและกำหนดทิศทางการศึกษาและผลิตกำลังคนตามต้องการของประเทศ” นายกมล กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น