นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ยาวิเศษที่รักษาทุกโรคได้เป็นความฝันของมนุษยชาติมาแต่ครั้งโบราณกาล จริงอาจเรียกว่า นี่เป็นอีกวาทกรรม “ยาครอบจักรวาล” ที่รักษาโรคยากๆ ได้ดังใจ สำหรับประเทศไทยเองที่ป่วยเรื้อรังมาเป็นสิบปีจากความขัดแย้งสีเสื้อและความอ่อนแอทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น วันที่ 10 ธันวาคม 2557 ที่เป็นวันรัฐธรรมนูญใต้ท็อปบู๊ต แล้วจะมีอะไรที่อาจเป็นความหวังจากการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประดุจยาครอบจักรวาลได้บ้าง
ความวนเวียนที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญไทยคือ การมุ่งแต่สร้างกลไกโครงสร้างส่วนบนให้สวยหรูดูดีมีหลักการ แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานการเมืองภาคประชาชนให้แกร่งและเข้มแข็ง และกี่รัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมาก็ไม่ได้เน้นที่จะสร้างกลไกภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้ ก็ไม่มีวี่แววจะแตกต่างจากฉบับเดิมๆ
การเชื่อมั่นในกลไกแบบจักรกลของรัฐธรรมนูญ มองรัฐธรรมนูญประดุจกลไกนาฬิกามหัศจรรย์ที่หากออกแบบให้ดีที่สุดจะเดินได้อย่างเที่ยงตรง แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ความเชื่อมั่นต่อแนวคิดจักรกลนิยมนี้ได้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงลงไปแล้วจากควอนตัมฟิสิกส์ ที่สรรพสิ่งล้วนเป็นไปตามกฎของความไม่แน่นอน รัฐธรรมนูญไทยวันนี้ยังอยู่ในกระบวนทัศน์แบบกลไกจักรกล ซึ่งไม่มีทางที่จะสามารถออกแบบกลไกให้รองรับความซับซ้อนทั้งหมดของสังคมในยุคสมัยนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและให้เท่าทันคนไทยที่หัวหมอได้
รัฐธรรมนูญที่ก้าวข้ามกระบวนทัศน์แบบจักรกล หนึ่งเป็นสองเป็นสามเป็นสี่ มาสู่กระบวนทัศน์แบบเลื่อนไหลและพร้อมเปลี่ยนแปลง หนึ่งอาจไปสามแล้วกลับมาสองแล้วกระโดดไปสิบ คือ สิ่งท้าทายยิ่งว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้รับกับเหตุปัจจัยและโครงสร้างของสังคมที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว ซึ่งต้องจัดการให้ได้ พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งแบบนี้ต้องการรัฐธรรมนูญที่กลับไปสู่รากฐาน คือรัฐธรรมนูญที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เน้นการออกแบบโครงสร้างส่วนบนเท่านั้น
วันนี้เรามีการกระจายอำนาจที่ยกอำนาจอันเล็กน้อยแค่เก็บขยะมาที่ท้องถิ่น แต่เรายังไม่กระจายอำนาจในการตัดสินชะตาชีวิตของเขาเองมาให้กับคนในพื้นถิ่น ประเทศไทยถึงเวลากระจายอำนาจปกครองแบบมณฑลแล้วหรือไม่ ทำไมงบประมาณไม่ถูกตั้งให้มูลนิธิ หรือนิติบุคคลที่เป็นองค์กรสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร โดยที่รัฐทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นแทนที่จะทำหน้าที่ใช้งบเองเพื่อให้ประชาชนเจ้าของประเทศทำเองดูแลชุมชนของเขาเอง เรามีกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองได้แล้วทำไมไม่มีกองทุนพัฒนาองค์กรภาคประชาชนบ้างไม่ได้ เรามีบีโอไอส่งเสริมการลงทุนแก่ทุนขนาดใหญ่แต่ทำไมไม่มีการส่งเสริมการลงทุนของชุมชนอย่างเป็นระบบ เราจะก้าวข้ามจากรัฐราชการมาเป็นรัฐที่ประชาชนร่วมจัดการประเทศได้อย่างไร ยังไม่รับรวมการทำให้เกิดการมีอยู่ของสภาประชาชน นี่คือโจทย์ยากของรัฐธรรมนูญ ที่อาจยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ
เป็นธรรมดาของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบกลไกของโครงสร้างส่วนบนเป็นสำคัญ จะจัดอำนาจต่างๆอย่างไร รัฐบาลแบบไหน รัฐสภาแบบไหน กี่สภากี่วุฒิกี่องค์กรอิสระ ซึ่งบทเรียนของรัฐธรรมนูญสองฉบับหลังสุดชัดเจนว่า ไม่ว่าออกแบบอย่างไร กลุ่มทุนใหญ่ก็ได้ประโยชน์ วิธีคิดแบบราชการเอาไปกิน รัฐธรรมนูญจึงไม่รู้จะใช่คำตอบสุดท้ายหรือไม่ที่จะหนุนเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง ภาคพลเมืองเข้มแข็ง
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันนี้ สังคมคาดหวังให้เป็นยาครอบจักรวาลที่รักษาได้ทุกโรคแก้ได้ทุกปัญหา แต่เอาเข้าจริงน่าจะเป็นความคาดหวังต่อสรรพคุณที่เกินจริง ภายใต้กระบวนทัศน์ที่เห็นว่า สรรพสิ่งล้วนเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไปให้พ้นจากแก้กลไกส่วนบน แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคมเท่านั้นที่จะเผชิญกับสังคมที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่