xs
xsm
sm
md
lg

แบบทดสอบว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่ดีแค่ไหน/​ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบทดสอบนี้จะทำให้เราทราบว่า เราเป็นพ่อแม่ที่ดีแค่ไหน? และจะช่วยตอบคำถามว่าในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ เราควรตีลูกหรือไม่ หรือเวลาใดที่ควรลงวินัยกับลูก ( Time Out) และควรใช้เวลานานเท่าไหร่ เราลองมาดูคำถามแรกกันเลยค่ะ

1. เราควรตีลูกเมื่อลูกอายุเท่าไหร่
ก. 2 ขวบ
ข. 4 ขวบ
ค. ไม่ควรตีลูก

คำตอบที่ถูกคือ ค. เราไม่ควรตีลูก การตีลูกอาจหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้ในชั่วขณะในเวลาที่ลูกทำพฤติกรรมนั้น แต่ไม่ได้สอนให้ลูกมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในภายหน้า เด็กที่ถูกตีมากๆมักมีปัญหาเครียด เก็บกด และปัญหาความกัาวรัาวเพราะอารมณ์โกรธที่เก็บสะสม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสอนลูกไม่ได้ เมื่อลูกเริ่มแหกกฎ เราอาจจัดเวลาให้ลูกนั่งนิ่งๆ (Time Out) หรือห้ามเล่นของเล่นชิ้นโปรด หากเป็นเด็กวัยคลานอาจใช้วิธีตบมือดังๆ เพื่อให้ลูกสนใจฟัง แล้วพูดด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ห้ามขว้าง หรือปาของ” หรือ “ห้ามกัด” เป็นต้น และเมื่อลูกมีความประพฤติที่ดีขึ้นต้องรีบชม หรือใช้วิธีชมลูกให้คนอื่นฟังโดยให้ลูกได้ยินด้วย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ลูก

2. กฎที่ดีที่สุดคืออะไร
ก. บอกลูกถึงสิ่งที่เราคาดหวังและต้องการให้ลูกทำ
ข. กฎคือกฎห้ามเปลี่ยนแปลง
ค. เน้นกฎที่ลูกทำผิดบ่อยๆเสมอๆ

คำตอบที่ถูกคือ ก. การลงวินัยที่ดีนั้น เราต้องอธิบายชัดเจนในสิ่งที่เราคาดหวังในตัวลูก และหมายความว่าหากลูกไม่ทำตามกฎจะมีอะไรเกิดขึ้น การลงวินัยต้องคำนึงถึงอายุและวุฒิภาวะของลูกด้วย อย่าตั้งกฎที่ยากเกินไปสำหรับลูก ให้เราทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลูกจะรู้ว่ากฎคืออะไร และเมื่อไม่ทำตามกฎแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า การเข้มงวดกับลูกเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ แต่ยอมให้ลูกต่อรองได้ด้วยในบางโอกาส เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้น

3. หากลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น เราควร
ก. ทำกระดานจดพฤติกรรม
ข. ลงวินัยที่ไม่ทำให้ลูกขายหน้า
ค. ถูกทั้งข้อ ก และข้อ ข

คำตอบที่ถูกคือทั้งข้อ ก และข้อ ข เด็กสมาธิสั้นต้องการความชัดเจนต่อสิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่คาดหวังให้ทำ และหากไม่ทำตามกฎจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ตารางจดบันทึกพฤติกรรมจะทำให้เด็กเห็นพฤติกรรมที่ดีขึ้น และคุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลลูกด้วยเพื่อเป็นกำลังใจ เด็กส่วนใหญ่มักจะกลัวเสียหน้า เมื่อโดนดุต่อหน้าเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสมาธิสั้นจะรู้สึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้น การลงวินัยจะได้ผลหากทำเป็นการส่วนตัว

4. เมื่อลูกวัยทารกตีน้องหรือ พี่ และแย่งของเล่น เราควรแยกพวกเขาออกจากกันและ
ก. ตีที่มือลูกเบาๆ
ข. ดูแลเด็กที่เจ็บ
ค. ประนีประนอม

คำตอบที่ถูกคือแยกเด็กออกจากกัน เอาของเล่นออกไปและดูแลคนที่เจ็บ หยุดการตีของลูกในทันที เพื่อที่ลูกจะไม่ได้รับการเสริมแรงในทางที่ผิด พูดด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ห้ามตี การตีทำให้คนอื่นเจ็บ” เพื่อที่ลูกจะรู้สึกถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย การตีหรือกัดคนอื่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาเรื่องอื่นด้วย เช่นความเศร้า ความโกรธ หรือเด็กอาจเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ในทีวี หรือบางกรณีเด็กอาจถูกทารุณ ในกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

5. หากลูกไม่เก็บของเล่น เราอาจทำโทษโดยการให้ลูกเข้านอนโดยไม่ต้องทานอาหารได้
ก. ถูก
ข. ผิด

การลงโทษโดยการเอาปัจจัยสี่หรือสิ่งที่จำเป็นของลูกออกไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่นไม่ให้ทานอาหาร ไม่ให้อยู่บ้าน เป็นต้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับลูก เราควรหาสิ่งอื่นเป็นข้อต่อรองที่เหมาะสมกับวัยของลูกและเป็นสิ่งที่ลูกทำได้ เช่นไม่อนุญาตให้ลูกเล่นของเล่นวันนี้ เพราะลูกทิ้งของเล่นไว้ครั้งที่แล้ว สำหรับเด็กต่ำกว่า 6 ขวบไม่ควรรอการลงวินัยนานเกินไปที่ เพราะลูกจะจำไม่ได้แล้วว่าทำผิดอะไร หรือเมื่อไหร่ที่ทำ เช่นบอกลูกว่าลูกจะไม่ได้ดูทีวีเย็นนี้ เพราะลูกดื้อตอนเช้า

6. การให้ลูกนั่งหรือยืนนิ่งๆ (Time Out) ควรใช้เวลานานเท่าไหร่
ก. 5 นาที
ข. ตามอายุ
ค. 3 นาทีต่อปี หาก 2 ปีก็ 6 นาที เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า 1 นาทีต่ออายุหรือตามอายุเป็นสิ่งที่ยุติธรรม ( เช่นเด็ก 4 ขวบใช้เวลา 4 นาที) คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ใช้วิธีให้ลูกสงบโดยวิธีนั่งนิ่งๆ (Time Out) เพื่อเป็นการเปลี่ยนจุดสนใจจากปัญหา ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกที่ๆน่าเบื่อแต่ปลอดภัย ไม่ใช่ที่ๆน่ากลัว เช่น ให้นั่งที่เก้าอี้ เมื่อหมดเวลาให้คุยกับลูกอย่างสั้นๆแต่ชัดเจนว่าทำไมเราถึงให้ลูกออกไป (Time Out) และไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ อย่าค่อนแคะถึงสิ่งที่ลูกทำผิด ให้อภัยและผ่านเลยไป การใช้ (Time Out) เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 - 5 ปีที่สุด แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีนี้กับลูกได้จนลูกอายุ 11 - 12 ปีได้

7. คุณพ่อคุณแม่มีวิธีควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหากลูกแผลงฤทธิ์ในที่สาธารณะอย่างไร
ก. ตะโกนให้หยุดและหยิกที่ก้น
ข. ตี แต่ทำอย่างส่วนตัว ไม่ให้ใครเห็น
ค. คุยและลงวินัยที่บ้าน

ข้อ ค เป็นคำตอบที่ถูกต้อง อย่าผ่านเลยไปหากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ ให้เราคุยกับลูกที่บ้านว่าหากต้องไปข้างนอกต้องทำตัวอย่างไร อย่าตั้งกฎที่มากเกินไปที่ลูกไม่สามารถทำได้ การลงวินัยกับลูก โดยการตีหรือตะโกนให้อายต่อหน้าทุกคน เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ให้ลูกนั่งที่ม้านั่งที่ใกล้ๆหรือกลับบ้านหากทำได้ หรือตัดสิ่งที่ลูกชอบออกไป เช่น สงสัยว่าเราคงไม่ได้ไปที่สวนสัตว์ต่อแล้วเป็นต้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถลงวินัยในขณะที่เกิดเรื่องได้ บอกลูกว่าเดี๋ยวแม่จะจัดการเรื่องนี้เมื่อกลับบ้าน และไปทำธุระอื่นก่อนให้เสร็จ

8. หากเรากำลังโกรธเพราะลูกวัย 4 ขวบแผลงฤทธิ์ เราควรลงวินัยลูกทันที
ก. ถูก
ข. ผิด

โดยปกติแล้วเราควรคุยกับลูกทันทีเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ในกรณีที่เรากำลังโกรธอยู่ ให้เราหยุดและจัดการกับความโกรธของเราก่อนลงวินัยกับลูก หายใจเข้าลึกๆ หรือถ้าเป็นได้ให้ออกจากเหตุการณ์ไปสัก 2 - 3 นาที ให้เราคิดด้วยว่าอะไรทำให้เราโกรธ เรากำลังเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาปนหรือเปล่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นระหว่างวันที่ทำให้เราหงุดหงิดหรือไม่ การลงอารมณ์กับลูกทำให้ลูกไม่กล้าคุยกับเราเมื่อลูกมีปัญหา

9. เมื่อลูกวัย 5 ขวบแต่งเรื่องขึ้นตามจินตนาการ คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นตามไปด้วย
ก. ถูก
ข. ผิด

เป็นเรื่องปกติที่ลูกวัย 4 - 5 ขวบจะแต่งเรื่องขึ้นอย่างสนุกสนาน ดังนั้นเราควรเล่นตามไปด้วยกับลูก เด็กในวัยนี้มีจินตนาการและเรื่องจริงสลับกันไปมา แต่ในบางครั้งลูกอาจพูดปดเพราะต้องการปิดบังบางอย่าง ให้เราใช้เวลาคุยกับลูกถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์ สำหรับเด็กโตแล้วสามารถแยกแยะระหว่างการพูดปดกับการพูดความจริงได้แล้ว การพูดปดซ้ำแล้วซ้ำอีกอาจเป็นเพราะลูกกำลังมีเรื่องไม่สบายใจ พูดคุยกับลูกเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า อาจใช้หนังสือหรือข่าวสารบ้านเมืองเป็นสิ่งช่วยสอนเรื่องการพูดความจริงให้ลูก

10. ลูกวัย 3 ขวบร้องงอแงที่ร้านขายของ เตะและกรีดร้อง เราไม่ควรทำสิ่งใด
ก. คุยถึงความรู้สึกของลูก
ข. ตัดสินใจว่าจะช้อปปิ้งวันหลังและกลับบ้าน
ค. ดุว่าลูก

การตะโกนว่าลูกในขณะที่ลูกกำลังโกรธและงอแงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผล ใช้วิธีทำให้ลูกสงบโดยการบอกลูกว่าแม่เข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร ให้ลูกบอกถึงความรู้สึกของลูก ถ้าลูกยังไม่สงบ ให้กลับบ้านหรือหามุมสงบ หากไม่สามารถทำได้อย่าง้อหรือทำให้ลูกรู้สึกว่าการร้องไห้หรือกรีดร้อง เตะตีได้ผล พยายามหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ลูกโยเย โดยการตัดสินใจที่ฉลาด เช่น หลีกเลี่ยงการไปซื้อของเมื่อใกล้เวลานอนกลางวันของลูก ให้เลือกเวลาอื่นแทน สำหรับเด็กวัยรุ่นหรือเด็กโต เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เถียง ชวนทะเลาะ หรือพาล ให้ใช้วิธีเดียวกันเหมือนเด็กเล็กที่จะทำให้ลูกสงบลง

หลายอย่างในอดีตที่เราเคยเรียนรู้ เช่น หากชมลูกมากแล้วลูกจะเหลิง หรือตีพื้นเมื่อลูกหกล้ม หรือพูดว่าต้องตีให้หนักๆลูกจะได้จำได้ สิ่งเหล่านี้อาจสร้างบาดแผลขึ้นในใจลูก ลูกแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่การให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ และอดทนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลูกเป็นเด็กที่น่ารัก และเป็นที่ชื่นใจของคุณพ่อคุณแม่ในภายหน้า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง
www.webmd.com
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
 
 


 
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น