xs
xsm
sm
md
lg

พวงมาลาถวาย “พระสังฆราช” ใหญ่ที่สุดในโลก ฝีมือ มทร.ธัญบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การนำดอกไม้มาสร้างสรรค์จัดแต่งเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติหรือแสดงความเคารพผู้เสียชีวิต พระบรมรูป หรืออนุสาวรีย์ต่างๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ นั่นเป็นเพราะ “ดอกไม้” มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน โดย พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เปิดเผยว่า ดอกไม้ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาช้านาน แม้แต่เวลาที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้ที่เข้าเฝ้าจะนำดอกไม้เข้าเฝ้าด้วย

การจัดดอกไม้ไม่เพียงถวายบูชา หรือเพียงสวยงามเท่านั้น แต่ในการจัดดอกไม้ยังเป็นการน้อมกระบวนการเข้าใจธรรมะ เป็นการฝึกการกระทำ เพราะว่าในการจัดดอกไม้ต้องใช้สติ สมาธิ เนื่องจากในการเย็บ การจัด ล้วนเป็นกระบวนการที่ผ่านสติ ถ้าไม่มีสติ ไม่สามารถทำงานได้ ระหว่างในการทำงานต้องมีการคุย มีการสื่อสารกัน ต้องตั้งสมาธิ ซึ่งกระบวนการในการประดิษฐ์ดอกไม้และตกแต่ง ต้องมีการฝึกจิตด้วยสติและสมาธิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ประดิษฐ์พวงมาลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อน้อมถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2556 ซึ่งในโอกาสครบรอบ 1 ปี เหล่าศิษยานุศิษย์ ประชาชนชาวไทยพุทธต่างก็มาร่วมน้อมรำลึกถึงพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณที่พระองค์ทรงมีต่อชาวไทย

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้จะไม่ได้ประดิษฐ์พวงมาลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เพียงแค่ตั้งใจทำพวงมาลาและจัดดอกไม้หน้าพระโกศบูชาพระสังฆราช ก็เป็นเจตนาที่เป็นกุศล ลงแรงกาย ฝึกธรรมะในตัวเอง “เกิดความชื่นบาน ทำให้ชื่นใจ” โดยกระบวนการในการจัดดอกไม้ ถือเป็นการฝึกธรรมะในตนเอง ปฏิบัติธรรม เกิดเป็นญาณสังวรในใจของตัวเราเอง

สำหรับพวงมาลาถวายพระสังฆราชที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า เป็นการออกแบบประดิษฐ์โดยคณาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ พวงมาลาขนาดความสูง 3 เมตร กว้าง 2 เมตร 50 เซนติเมตร จัดทำด้วยดอกไม้ประดิษฐ์จำนวนหนึ่งร้อยหนึ่งกลีบ มีน้ำหนักรวม 101 กิโลกรัม ซึ่งจำนวนดอกไม้และน้ำหนักพวงมาลา แทนสัญลักษณ์แห่งวันประสูติเป็นปีที่ 101

ผศ.วินัย ตาระเวช อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เป็นเกียรติและน้อมรำลึกพระองค์ท่านได้มีโอกาสจัดดอกไม้หน้าพระโกศ ซึ่งเมื่อวันประสูติได้มีโอกาสประดิษฐ์พวงมาลาให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วางพวงมาลา โดยพวงมาลาถูกออกแบบให้เป็นรูปดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา ประดับซ้อนด้วยกลีบดอกไม้เป็นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อันเป็นรูปแบบของพัดยศสมณศักดิ์ของสมเด็จพระสังฆราช พุ่มข้าวบิณฑ์นี้มี 21 แฉก เป็นสัญลักษณ์แทนวันที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช 21 เมษายน 2532 พื้นตรงกลางพวงมาลาได้นำดอกรักมาถักร้อยเป็นตาข่าย อันเป็นสัญลักษณ์แทนความศรัทธาและจงรักภักดีของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อองค์สมเด็จพระสังฆราช ด้านล่างประดิษฐ์ดอกไม้เป็นรูปช้างสามเศียร ความหมายแทนพระสกุล “คชวัตร” บนเศียรมีพานพุ่มสักการะเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาเนื่องในโอกาสพิเศษยิ่ง เหนือพานพุ่มประดิษฐานอักษรพระนามย่อ ญสส. สัญลักษณ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช ด้านล่างของพวงมาลาประดับประดาด้วยดอกไม้ประดิษฐ์และพวงดอกไม้แบบราชสำนัก

สำหรับการจัดดอกไม้หน้าพระโกศในวันที่ 3 ตุลาคม ของทุกปีวันประสูติของพระสังฆราชแนวคิดในการจัด “ดอกบัวสี่เหล่า” ลักษณะของท้องน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ และบรรดาสรรพสัตว์ เช่น ปลา และเต่า เน้นสีขาว ความบริสุทธิ์ ในการนำดอกไม้สีขาวมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ชนิดใหม่ กลีบของกล้วยไม้สีขาว มาประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นดอกไม้ชนิดใหม่ ในลักษณะของโพรเทีย กลีบดอกบานไม่รู้โรย ทำตัวเต่าและปลา

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ครบวาระการสิ้นพระชนม์ 1 ปี แนวคิดในการจัด “พุทธบูชา” โดยการนำกลีบดอกไม่รู้โรยแต่ละกลีบมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ชนิดใหม่ เช่น ดอกบัว ดอกพุดตาน ซึ่งกลีบของดอกบานไม่รู้โรยเปรียบเหมือนกับประชาชนชาวไทยร่วมน้อมรำลึกในสมเด็จพระสังฆราช และได้มีการนำกลีบดอกบานไม่รู้โรยมาประดิษฐ์เป็นไก่แจ้ ซึ่งเป็นสัตว์ทรงเลี้ยงของพระองค์ท่าน

“เนตร” นายพงศธร น้อยคง นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า เตรียมดอกไม้ประดิษฐ์ทำจากดอกกล้วยไม้ โดยการนำกลีบดอกกล้วยไม้มาจัดเรียงกลีบและนำดอกตูมของดอกกล้วยไม้มาสร้างสรรค์เป็นดอกกุหลาบหนู นำมาเข้าช่อ ใช้เวลา ๑ นาที ต่อ ๑ ดอก และการนำกลีบดอกบานไม่รู้โรยแต่ละกลีบของดอกบานไม่รู้โรยมาประดิษฐ์เต่า ซึ่งต้องอาศัยความอดทนในการเรียงกลีบแต่ละกลีบ จนเกิดเป็นตัวเต่า ซึ่งใช้เวลาในการทำ ๕ วัน ภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานของอาจารย์ ซึ่งน้อยคนที่จะได้มีโอกาสในการจัดดอกไม้หน้าพระโกศ

“อิจ” นายกำจร เริงสมุทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า รับผิดชอบในส่วนของงานใบตอง ซึ่งมีหน้าที่ในส่วนของงานใบตอง ซึ่งเป็นการนำงานใบตองมาประยุกต์เข้ากับงานประดิษฐ์ โดยงานใบตองเป็นงานไทยๆ ยกตัวอย่างในการทำกระทงกลีบสุพรรณิการ์ โดยต้องอาศัยความละเอียดถือเป็นงานที่ประณีต โดยกระทงแต่ละกระทงใช้เวลาต่างกัน ขึ้นอยู่กับเส้นผ่านศูนย์กลางของกระทง กระทงแต่ละกระทงทำเป็นฐานรองพุ่มดอกไม้ ในการเข้ามาช่วยงานตรงนี้ ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากตนเองนับถือศาสนาอิสลาม แต่ภูมิใจที่ได้เข้ามาช่วยงานตรงนี้

นักศึกษามีปัญหาทางหู “แน็ก” นางสาวอนุษา ดวงเกิด นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า ทุกครั้งที่เข้ามาช่วยอาจารย์ในการจัดดอกไม้ ภูมิใจที่ได้จัดดอกไม้ในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำงานที่ห้องดอกไม้ของคณะ ในการช่วยงานครั้งนี้ ทำเต่าโดยติดกลีบดอกบานไม่รู้โรย ติดพานพุ่มจากกลีบดอกกล้วยไม้ และร้อยมาลัยตุ้มจากกลีบกล้วยไม้ ในการจัดดอกไม้หน้าพระโกศถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นสิริมงคลในชีวิตครั้งหนึ่ง ถือเป็นการทำหน้าที่ของชาวพุทธ ซึ่งนำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ ทำคุณประโยชน์

ด้านนักศึกษาที่ประดิษฐ์พวงมาลา “เจเจ” นายสุรารักษ์ บุตรแสง นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ เล่าว่า พวงมาลาลักษณะเป็นดอกบัวพุ่ม น้อมรำลึกสมเด็จพระสังฆราช ใช้ดอกไม้แห้งที่ประดิษฐ์ขึ้น ลักษณะเป็น ๓ ชั้น มีการไล่โทนสีของดอกไม้เป็นชั้นๆ ชั้นฐานลักษณะสีเขียว ชั้นสองกลีบดอกไม้สีขาวที่เรียงเป็นชั้นซ้อนกัน ส่วนชั้นในสุด ลักษณะเป็นการร้อยดอกรักเป็นตาข่าย และมีตัวอักษรย่อ ญสส. พวงมาลาที่นำมาวาง ถือเป็นพวงมาลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภูมิใจที่ได้ประดิษฐ์พวงมาลาในครั้งนี้ คำสอนที่พระองค์ท่านได้สอนในเรื่องของสติ เป็นสิ่งที่จริง ถ้ามีสติทุกอย่างก็สำเร็จ

“แนน” นางสาวจิรนันท์ ใคร่กระโทก นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ เล่าว่า ตลอดเวลา ๔ ปีที่ศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานของอาจารย์ ไม่ว่าเป็นงานของมหาวิทยาลัยฯ โดยงานแต่ละงานมีความแตกต่างกันออกไป สำหรับการประดิษฐ์พวงมาลาในครั้งนี้ ทำให้ตนเองมีความรู้ในเรื่องของพวงมาลา ซึ่งเป็นพวงมาลาที่ประดิษฐ์ขึ้นเพียงพวงเดียว และใหญ่ที่สุด เป็นเกียรติกับครอบครัวที่ตนเองมีส่วนร่วมในการประดิษฐ์พวงมาลาในครั้งนี้ นำความรู้ในงานประดิษฐ์และจัดดอกไม้มาใช้งานจริง นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ร่วมน้อมรำลึกถึงพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยสติ และสมาธิ ตามคำสอนของพระองค์ท่าน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น