xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กเต่า” ยันนำนักโทษทำงานประมงตามความสมัครใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.แรงงาน ยันคัดเลือกนักโทษทำงานภาคประมงแล้วแต่ความสมัครใจ ไม่มีบังคับ ชี้ต้องทำความเข้าใจให้การคุ้มครองตาม กม. พร้อมทำเอ็มโอยูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแล
พล.อ.สุรศักดิ์  กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
 
 
วันนี้ (4 ธ.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ขอให้ทบทวนการใช้นโยบายนำนักโทษทดแทนแรงงานในกิจการประมง เนื่องจากเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นและแรงงานกลุ่มนี้ยังเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมประมงได้อย่างถาวร ว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำต้องมีการฝึกอาชีพก่อนพ้นโทษ ซึ่งการนำนักโทษมาทำงานในกิจการประมง ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกและการจะไปทำงานในกิจการประมงต้องเกิดจากความสมัครใจเท่านั้น โดยผู้ประกอบการประมงยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้มีอาชีพ มีรายได้ ไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำ จนต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าที่ประเทศอังกฤษ มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อรองรับผู้พ้นโทษ จากเดิมผู้ที่พ้นโทษกลับไปทำผิดซ้ำ ร้อยละ 60 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น จึงถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แนวคิดการนำผู้ที่ใกล้พ้นโทษไปทำงานในกิจการประมง มีหลายฝ่ายแสดงความกังวล ซึ่งกระทรวงแรงงาน กับ กรมราชทัณฑ์ได้มีมาตรการรองรับในเรื่องนี้ ซึ่งต้องเกิดจากความสมัครใจ ทั้งนายจ้างและผู้ใกล้พ้นโทษในระยะเวลา 1 ปี พร้อมมีความประพฤติดี ทั้งการทำความเข้าใจการเตรียมความพร้อมด้านทักษะ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ขณะเดียวกัน ต้องมีการติดตามผล และดูแลให้ได้รับการคุ้มครอง มีงานและรายได้เลี้ยงดูตนเองหลังพ้นโทษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำข้อตกลงร่วมกัน

นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง และช่วยลดเรื่องค้ามนุษย์ที่ไทยถูกกล่าวหา โดยนำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีผู้นักโทษที่เข้าข่ายที่มีอายุ 18 - 25 ปี จำนวน 176 คน และต้องสอบถามความสมัครใจต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2558

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น