ตราด - ผู้ประกอบการธุรกิจประมงทะเลในพื้นที่จังหวัดตราด กว่า 100 ราย ได้เดินทางมารวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอคลองใหญ่ หลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพื่อเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวด่วน
วันนี้ (29 ต.ค.) นายณรงค์ ไชยศิริ เลขาธิการสมาคมประมง จ.ตราด พร้อมด้วยเจ้าของเรือประมง ผู้ประกอบการธุรกิจด้านประมงทะเลในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.คลองใหญ่ กว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยมี นายบุญเลิศ วรวงษ์ ปลัดอาวุโสรักษาการนายอำเภอคลองใหญ่ ลงมาพบ และเชิญให้เข้าไปหารือในห้องประชุมเพื่อรับฟังปัญหา
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบกาคือ ต้องการให้ช่วยลดค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนพร้อมยืดเวลาการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงทะเลออกไปอีก และเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ใช้ในสถานประกอบการธุรกิจประมงทะเล และบนเรือประมง แรงงานมีการเปลี่ยนนายจ้างบ่อยแต่ภาครัฐทำอะไรไม่ได้ ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้อยู่ระหว่างผ่อนผันตามนโยบาย คสช.ได้มีการนำแรงงานไปขึ้นทะเบียน แต่แรงงานที่ขึ้นทะเบียนแล้วกลับย้ายนายจ้างไปเรื่อย อีกด้านก็จะถูกกวาดล้างจากเจ้าหน้าที่หลังหมดเวลาการขึ้นทะเบียนแรงงานในสิ้นเดือนนี้
นายณรงค์ ไชยศิริ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่นำไปขึ้นทะเบียนทำบัตรเรียบร้อยแล้ว เสียเงินค่าธรรมเนียมไปหลายพันบาท แต่แรงงานอยู่ด้วยไม่กี่วันก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ยกตัวอย่างเช่น เป็นลูกเรือประมงลำหนึ่ง แต่พอเรือประมงลำอื่นมาชักชวนก็ย้ายไป และเปลี่ยนนายจ้างไปเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อนายจ้างจำนวนมาก
อีกทั้งไม่สามารถเรียกแรงงานเหล่านั้นกลับมาทำงานได้ เมื่อไปหาแรงงานมาขึ้นทะเบียนทดแทนคนเก่าอีกก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน จึงกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานขึ้น และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงได้รวมตัวกันขอเรียกร้องไปทางรัฐบาลให้รับรู้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว และเมื่อผู้ประกอบการไม่มีทางเลือกอาจจะต้องจ้างแรงงานเถื่อน จึงวิงวอนผ่านทางอำเภอไปยังจังหวัด และรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานดังกล่าวด้วย
ด้าน นายบุญเลิศ วรวงษ์ ปลัดอาวุโสรักษาการนายอำเภอคลองใหญ่ รับปากว่าจะนำเสนอปัญหาข้อเรียกร้องทั้งหมดให้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา พร้อมทั้งแจ้งว่า หลังวันที่ 31 ตุลาคม 2557 แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเข้มงวดดำเนินการตามกฎหมาย
ในเบื้องต้น ทางผู้ประกอบการจะให้เวลา 3 วันในการรอฟังคำตอบความชัดเจนเรื่องดังกล่าวจากผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และถ้าไม่มีอะไรคืบหน้า ผู้ประกอบการจะไปรวมตัวกันอีกครั้งที่หน้าศาลากลาง จ.ตราด
นายบุญยัง เกตุแก้ว อายุ 54 ปี เจ้าของธุรกิจ “บุญยังซีฟู๊ด” ได้กล่าวว่า ตนเองมีแรงงานต่างด้าวในธุรกิจประมงทะเลรับซื้อปลา และเรือประมงกว่า 60 คน จะได้เงินเดือนคนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน โดยก่อนที่เรือประมงจะออกเรือไปหาปลาในทะเล แรงงานจะมีการขอเบิกเงินล่วงหน้าก่อน 5,000 บาททุกคน ซึ่งเจ้าของเรือประมงทุกรายต่างก็จะปฏิบัติแบบเดียวกัน
ที่ผ่านมา ปัญหาที่เจ้าของธุรกิจพบบ่อยก็คือ แรงงานย้ายนายจ้าง ในส่วนของเรือประมงก็คือเมื่อเรือประมงไปจอดเทียบท่า หรือจอดพักหลบคลื่นลมตรงจุดไหนแรงงานที่เป็นลูกเรือจะลงจากเรือไปมักจะขึ้นฝั่ง 7-8 คนแล้วไม่ยอมกลับมาที่เรืออีก ยิ่งช่วงที่มีการผ่อนผันแรงงานจะไม่เกรงกลัวการถูกจับกุม เพราะแรงงานจะถือบัตรเอง นายจ้างไม่ได้เก็บไว้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้มงวด และหลายครั้งก็จะเห็นว่าแรงงานที่ตัวเองเป็นนายจ้างได้ไปอยู่กับเรือประมงลำอื่นที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นเดียวกัน จึงขอวิงวอนผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการธุรกิจประมงทะเลด้วย