รพ.เชียงรายฯ ประดิษฐ์ “กระเป๋าผ้ายืด” แก้ปัญหาผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องแพ้พลาสเตอร์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในพลาสเตอร์รุ่นพิเศษราคาแพง ลดเสี่ยงการติดเชื้อทางออกสายทางช่องท้อง 95% ทำความสะอาดง่าย ช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จ่อขยายต่อยอดในการดูแลผู้ป่วย
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รับการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritaneal Dialysis : CAPD) เป็นชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มุ่งเน้นให้เป็นการบำบัดแรก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและการดูแล ซึ่งในการประชุมระดับชาติเรื่อง “การบริการบำบัดทดแทนไตทางช่องท้อง : เพื่อผู้ป่วยและสังคมไทย” ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการมอบรางวัลนวัตกรรมการล้างไตทางช่องท้องดีเด่น ปี 2557 ให้กับ 10 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจาก 66 ผลงาน จากหน่วยบริการ CAPD 41 แห่ง ใน 30 จังหวัด เพื่อเป็นการเชิดชูและให้กำลังใจกับหน่วยบริการ เจ้าหน้าที่ CAPD ทั้งนี้ หนึ่งในผลงานนวัตกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยอย่างยิ่ง คือ “กระเป๋าผ้ายึดลดอาการแพ้พลาสเตอร์” ที่ช่วยลดภาวะความเสี่ยงติดเชื้อบริเวนทางออกของสายล้างไตที่ผ่านเข้าช่องท้องได้ โดยจะมีการขยายและพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ
น.ส.จิราภรณ์ สุพลมาตย์ พยาบาล รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ผู้คิดค้นนวัตกรรม “กระเป๋าผ้ายืดลดอาการแพ้พลาสเตอร์” กล่าวว่า รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ปี 2556 ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 437 ราย โดย 60 ราย มีอาการแพ้พลาสเตอร์ปิดแผลที่ใช้เก็บสายยางผ่านช่องท้อง โดยจะมีอาการคัน ผืน หรือตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณที่ปิดพลาสเตอร์ บางรายผื่นคันลุกลามไปถึงบริเวณแผลช่องทางออกของสาย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อบริเวณทางออกของสายผ่านช่องท้อง รพ.ต่างแนะนำให้เปิดแผลหรือให้ผู้ป่วยใช้พลาสเตอร์รุ่น v3000 ที่มีคุณสมบัติพิเศษป้องกันน้ำและระบายเหงื่อได้ดีปิดทับแทน แต่มีราคาสูงทำให้มีปัญหาต่อการเข้าถึง จึงคิดหาวัสดุเพื่อใช้ทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย โดยทำเป็น “กระเป๋าผ้ายืดลดอาการแพ้พลาสเตอร์” ด้วยการนำผ้ายืดสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำจาก Elastic bandage กว้าง 6 นิ้วมาประกบกัน 2 ชั้น ตัดเย็บให้ปลายทั้งสองด้านติดกัน บริเวณตรงกลางของผืนผ้าเย็บเป็นกระเป๋าเพื่อใช้เป็นช่องสำหรับเก็บสายยาง พร้อมกันนี้ปลายผ้าทั้ง 2 ด้านติด Vecro tape หรือเทปตีนตุ๊กแก สำหรับเลื่อนได้ตามขนาดตัวผู้ป่วย ทั้งนี้ได้ตัดเย็บให้ผู้ป่วย 41 ราย นำไปทดลองใช้คนละ 3 ผืน เพื่อเปลี่ยนทำความสะอาดทุกวัน
"จากผลทดลองใช้พบว่า สามารถลดอาการแพ้พลาสเตอร์จากเดิมได้ถึงร้อยละ 95.1 โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเพียง 2 รายที่ยังคงมีอาการแพ้ โดยรายหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และอีกรายหนึ่งมีประวัติแพ้น้ำยาล้างมือ 4% Chrohexidine scrub ขณะที่การขยับเคลื่อนที่ของสายล้างไตไม่มีความต่างทางสถิติ ภาพรวมผู้ป่วย 37 รายที่ใช้ “กระเป๋าผ้ายืดลดอาการแพ้พลาสเตอร์” มีความพึงพอใสจหลังการใช้งาน เนื่องจากสะดวก ประหยัด ร้อยละ 90.2 ยังคงใช้ต่อไป มีเพียงร้อยละ9.8 ไม่ใช่เพราะร้อนและอึดอัด นับเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ที่ก่อให้เกิดการแพ้ ง่ายต่อการใช้งาน ประหยัด สะดวก ไม่มีผลต่อแผลช่องทางออกของสายล้างไต สามารถซักได้ด้วยสบู่ และอบฆ่าเชื้อโรคได้โดยไม่เสียคุณสมบัติ มีอายุใช้งาน 1-6 เดือน ประหยัดกว่าพลาสเตอร์ เทปผ้า 190 บาท และประหยัดกว่า Micropore 40 บาท หรือประหยัดกว่า Transparent ถึง 496 บาท” น.ส.จิราภรณ์กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่