xs
xsm
sm
md
lg

สปช.บุก ก.อุตฯ จี้แบน “แร่ใยหิน” WHO เตือนชัดอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง
สปช. บุก ก.อุตฯ จี้เลิกแร่ใยหิน ชี้องค์การอนามัยโลกออกเอกสารแจงชัดอันตรายต้องเลิก เผยโรคจากใยหินก่อภาระค่ารักษากว่า 1,200 ล้านต่อปี

วันนี้ (20 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงอุตสาหกรรม รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการด้านคุ้มครองผู้บริโภค สปช. และ รศ.ดร. ภก. วิทยา กุลสมบูรณ์ รองประธาน ทั้ง 2 ด้านของ สปช. พร้อมด้วย นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายยกเลิกใยหินแห่งประเทศไทย หรือ ทีแบน เข้าพบ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติในการยกเลิกใยหิน ตามมติคณะรัฐมนตรี 2554 เรื่องสังคมไทยไร้แร่ใยหิน ให้มีการยกเลิกการใช้ใยหิน

รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าวว่า กรรมาธิการการสาธารณสุขของวุฒิสภา ได้เคยศึกษาเรื่องอันตรายของใยหิน ในสมัยตนเป็นสมาชิกวุฒิสภา มีการสรุปผลระบุถึงอันตรายของใยหินไครโซไทล์ มีหลักฐานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก ที่เสนอว่าทางเดียวที่จะป้องกันอันตรายได้ คือ การยกเลิกการใช้ใยหินโดยทันที

รศ.ดร.ภก.วิทยา กล่าวว่า ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้ออกเอกสารเกี่ยวกับใยหินไครโซไทล์ถึงอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพโดยสามารถดูได้ที่ http://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/asbestos/en/ เอกสารดังกล่าวแจกแจงปัญหาข้อข้องใจต่างๆ ทุกประเภท โดยระบุมีผู้เสียชีวิต 107,000 คนต่อปี ทั่วโลก ทั้งนี้ อันตราย นอกจากคนงานในเหมือง ผู้ใช้แรงงานก่อสร้างและรื้อถอนแล้ว ประชาชนทั่วไปก็อาจจะได้รับอันตรายจากการรื้อถอนวัสดุใยหิน เศษขยะที่มีใยหิน และระหว่างภัยพิบัติที่วัสดุก่อสร้างที่มีใยหินแตกกระจาย ซึ่งล้วนสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น

น.ส.สารี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลประชาชนโดยรัฐ หากไม่มีการยกเลิกการใช้ใยหิน และเกิดอันตรายเจ็บป่วย ระบบหลักประกันสุขภาพ จะต้องรักษาคนไทยประมาณ 1,000 คนต่อปี คนละประมาณ 1.2 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 1,200 ล้านบาท จะเป็นภาระของระบบด้านการเงินการคลังสุขภาพของประเทศอย่างมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่จะหยุดยั้งอันตรายที่จะเกิดกับประชาชนในอนาคต โดยตนจะได้นำเข้าหารือในกรรมาธิการด้านคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อปฏิรูประบบการตัดสินใจ เกี่ยวกับสินค้าอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น