“เรียนจบปริญญาแล้ว กลับมาทำไม ทำไมไม่ไปหางานในเมือง”
ธนภัทร แสงหิรัญ หรือ ตั้ม บัณฑิตหนุ่มมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าถึงข้อสงสัยจากคนรอบข้างที่มีต่อตัวเขา เพราะคนรอบข้างมักเชื่อกันว่าการทำงานในเมืองนั้นดูดีและมีอนาคต แต่ประสบการณ์เมื่อครั้งทำกิจกรรมค่ายอาสากับมูลนิธิโกมลคีมทองชักจูงให้ผมและเพื่อนสนใจงานพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะกับภูมิลำเนาเกิดแถบภาคอีสาน นี่ที่มาของโครงการฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา) ที่นอกจากจะมีเครือข่ายนักกิจกรรมเยาวชนร่วมด้วยช่วยกันแล้ว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนอีกแรง
ถามว่าสำนึกของความรักในบ้านเกิด สร้างอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ธนภัทร แจกแจงว่า คนในชุมชนต้องค้นหาความภูมิใจของตัวเองและพัฒนาให้มีคุณค่าให้ได้ก่อน แต่ถึงเช่นนั้นความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดแต่คือการฝึกทักษะให้เด็กและเยาวชนในถิ่นเกิดของเขา สนใจในเรื่องรอบตัวมากขึ้นโดยเฉพาะหัวใจจิตอาสา เสียสละ พร้อมจะลงแรงกายเพื่อสังคมส่วนรวม มากกว่าจะมองแค่ผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว
หลักใหญ่นั้นกว้างมาก เยาวชนทั้ง 12 กลุ่มย่อยในภาคอีสานที่เข้าร่วมโครงการ จึงนำแนวคิดการสร้างสุขภาวะ การมองถึงประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน ไปออกแบบกิจกรรมของตัวเอง เช่น ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ ที่ให้เยาวชนไปเห็นวิถีของการทำนาจริงๆ โดยมีเป้าหมายให้เห็นถึงมิติของอาชีพทำนาซึ่งเป็นอาชีพพื้นถิ่น กลุ่มที่ทำเรื่องอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ช่วยปลุกกระแสให้ชาวบ้านต่อต้านกลุ่มตัดไม้ การทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะผลประโยชน์เล็กน้อย สิ่งเหล่านี้กระตุ้นไปเพิ่มการเรียนรู้ของเยาวชน
เมื่อปลายเดือนตุลาคม ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร อีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชน “ฮักบ้านเกิด” ได้แลกเปลี่ยนผลงานและแนวคิดระหว่างกันภายใต้ชื่อ “มหกรรมความสุขอยู่ที่บ้านเรา”
ในซุ้มแสดงผลงานที่จัดวางอยู่รอบๆ
จันทร์จิรา สาขามุละ หรือ เบียร์ นักเรียนชั้น ม.4 และเพื่อน โรงเรียนมัธยมวาริชภูมิ จ.สกลนคร นำเสนอผลงานในรูปแบบสื่อร่วมสมัย เช่น ภาพถ่าย หนังสั้น วิดีโอ สารคดี สิ่งพิมพ์ ตามแนวคิด “รักษ์ถิ่น”
เบียร์ อธิบายว่า เธอและเพื่อนรุ่นเดียวกันชื่นชอบการเสพสื่อ เช่น โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตเป็นทุน เหตุเพราะด้านหนึ่งสื่อคือตัวแทนของความสมัยใหม่ สามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลาและอยู่ได้ในหลายรูปแบบ เช่น อินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถอัพโหลดและสื่อสารไปทั่วโลกได้จึงนำความภูมิใจในเรื่อง อาหาร ทัศนียภาพ ประวัติศาสตร์ ประเพณี ฯลฯ เสนอในรูปแบบสื่อต่างๆ
“การสร้างความภูมิใจให้เห็นถึงคุณค่าในชุมชนอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องอธิบายยากพวกหนูมองว่าสามารถประยุกต์และนำเสนอในรูปแบบที่คนอื่นเข้าถึงได้ง่าย เช่น ชาวบ้านมีความภูมิใจที่ในท้องถิ่นซึ่งมีอาหารที่อร่อย อย่างแกงหวายของทางอีสาน ที่ใครมากินก็ต้องชอบ มีชนพื้นถิ่นอย่างคนภูไทที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีองค์พระธาตุศรีมงคลซึ่งเก่าแก่ เป็นที่เคารพของคนในชุมชน จึงนำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกเล่าให้คนภายนอกได้เห็น”
ด้าน วรัญญา แสงมณี หรือ บิว นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแก่งนาจารย์พิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งใน ”กลุ่มเยาวชนข้าวเหนียวปั้นน้อย” เล่าเพิ่มว่า กิจกรรมที่ทำช่วยเยาวชนได้หันมามองสิ่งรอบตัว ได้โอกาสศึกษาถึงวิถีชีวิตในชุมชนที่ยังคงเหลือความมีจิตอาสา การแบ่งปันน้ำใจของชาวบ้านควบคู่กับการเลือกที่จะมีชีวิตที่เรียบง่าย เช่น การทอเสื่อ ทอผ้า การทำเกษตรที่มุ่งตอบสนองการบริโภคเองมากกว่าเชิงพาณิชย์
“ช่วงเวลาที่ศึกษาชุมชนมันอาจไม่ได้ทำให้ใครเปลี่ยนแปลงทันที แต่ทำให้เราได้เห็นจริงในสิ่งที่เราเคยได้ยินคำบอกเล่า มีโอกาสได้คิดและทบทวนกับสิ่งที่เป็นอยู่” บิว กล่าว
ขณะที่ เกียรติกร อัตรสาร หรือ หนุ่ม นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.สกลนคร มองว่า แน่นอนที่ความสำคัญของกิจกรรมเช่นนี้ไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ที่จะเปลี่ยนแปลงทันที แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีพื้นที่แสดงศักยภาพและฝึกทักษะในสิ่งที่สนใจ มีหัวใจที่จะร่วมพัฒนาถิ่นกำเนิด
คุณค่าในสิ่งที่ทำจึงกลายเป็นความภาคภูมิใจ และนำพาความสุขมาให้แบบไม่ยากเลย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น