xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กเต่า” ผุดไอเดียนำนักโทษชั้นดีที่พ้นคุกทำงานประมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บิ๊กเต่า” ผุดไอเดียดึงนักโทษพ้นคุกเข้าทำงานประมง ชี้เปิดโอกาสคืนสู่สังคมพร้อมมีงานทำ กรรมการบีโอไอหนุนแนวคิดเผยทั่วประเทศมีกว่า 3 แสนคน ส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าทำงาน ด้านแอลพีเอ็น แนะถามความคิดเห็นเจ้าตัว ครอบครัว ไม่ใช่เกณฑ์คนไปทำงานชี้ละเมิดสิทธิ

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง ว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้นักโทษในเรือนจำทั่วประเทศกลับคืนสู่สังคมในลักษณะมีงานทำโดยเป็นแรงงานประมงซึ่งจะนำนักโทษชั้นดีที่กำลังจะพ้นจากเรือนจำเข้าสู่ภาคประมงที่มีความคล้ายกับโครงการวิวัฒน์พลเมืองของกองทัพบกที่เปิดโอกาสให้นักโทษได้คืนสู่สังคมเพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องคดีอาญาและสังคมมักจะปฏิเสธ ทำให้มีโอกาสมีงานทำและเป็นไปได้ยาก จึงจะให้หน่วยงานของกระทรวงแรงงานไปศึกษาแนวทางก่อนจะนำไปสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการติดต่อจากผู้แทนหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ศรีลังกา เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อสอบถามความคืบหน้าในกรณีจะจัดส่งแรงงานประมงเข้ามาทำงานในไทยซึ่งเรื่องนี้จะต้องพิจารณาว่าควรดำเนินอย่างไร

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย และกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า แนวคิดของ รมว.แรงงาน ที่ดีมาก เนื่องจากงานประมงนั้นเป็นงานหนัก และเสี่ยงทำให้คนไทยไม่นิยมทำงานลักษณะนี้โดยจากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมในปัจจุบันพบว่า มีนักโทษในเรือนจำกว่า 3 แสนคน ส่วนใหญ่ต้องคดีอาญาและหางานทำยาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า คนเหล่านี้สามารถนำมาฝึกฝนและพัฒนาทักษะได้
ภาพ www.rakdhamma.com
ด้านนายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทางสมาคมฯ พร้อมจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้วยการให้โอกาสกับผู้ต้องขังคดีอาญาที่พ้นโทษ ถ้ากระทรวงแรงงานดำเนินการจริงจัง ทางสมาคมฯ ก็จะประสานกับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 400 บาท อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ในระยะยาว ก็ยังจำเป็นต้องมีการนำเข้าแรงงานประมงจากต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะจาก บังกลาเทศ และเวียดนาม ซึ่งจะทำให้ได้แรงงานเรือประมงเพียงพอกับการทำประมงทะเล ทางสมาคมฯ หวังว่าทางรัฐบาล และกระทรวงแรงงานจะอนุมัติให้มีการนำเข้าแรงงานเรือประมงได้

นายวิริยะ ศิริชัยเอกวัฒน์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า ทางสมาคมพร้อมสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะไม่ใช่แนวคิดใหม่ โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 30 - 40 ปีที่แล้ว ประเทศอังกฤษก็เคยใช้นโยบายนำนักโทษอาญาที่พ้นโทษแล้วมาฝึกอาชีพ เป็นลูกเรือประมง เพื่อแก้ปัญหาลูกเรือประมงขาดแคลนจนประสบความสำเร็จแล้ว อีกทั้งเรื่องนี้ทางสมาคมฯ ก็เคยเสนอให้กระทรวงแรงงานพิจารณามาก่อนหน้านี้แล้ว

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดีในการแก้ไขปัญหาแรงงานในเรือประมงขาดแคลน ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและล่อแหลม หากภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจเรือประมง ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาระบบสวัสดิการแรงงานในเรือประมง มีสัญญาจ้างชัดเจน มีหนังสือเดินทางและสมุดประจำคนเรือประมงถูกต้อง มีค่าตอบแทนสูงกว่าแรงงานประมงบนฝั่ง มีสวัสดิการการรักษาพยาบาล คุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต นโยบายนี้ก็แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมงไม่สำเร็จ เพราะคนทุกคนรู้ว่า การทำงานบนเรือประมงหนัก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บได้ตลอดเวลา และค่าตอบแทนน้อย ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาก็ไม่มีใครอยากลงเรือกัน ถ้าไม่มีแรงจูงใจที่มากพอ นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่า จะใช้วิธีการไหนในการคัดเลือกผู้ต้องขังที่พ้นโทษมาทำงาน ถ้าใช้วิธีการเกณฑ์แรงงานมันก็เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่กระทรวงแรงงานจะกระทำผิดกฎหมายเอง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ตนอยากเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อน ไม่ใช่ตกลงกันแค่กระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการเรือประมง ยังมีพ่อแม่ลูกเมีย หรือญาติพี่น้องของผู้ต้องขังที่ควรได้รับสิทธิแสดงความคิดเห็นด้วย
 
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น