xs
xsm
sm
md
lg

ครูเข้ สั่ง สอศ.เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพปี 58 ตั้งเป้าที่ 40:60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ สำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
“ณรงค์” สั่ง สอศ. เพิ่มสัดส่วนเด็กเรียนอาชีวะให้สูงขึ้น ตั้งเป้าปี 58 ต้องมีสัดส่วนอยู่ที่ 40 - 60 เชื่อแนวทางที่อาชีวะทำอยู่ทั้งจัดการศึกษาทวิภาคี พรี - อาชีวะ หรือแม้แต่เชิญ นายกฯ มาเป็นประธานเปิดงานอาชีวะช่วยปลุกค่านิยมให้เด็กสนใจเรียนอาชีวะเพิ่ม ขณะที่ “ชัยพฤกษ์” ระบุปี 57 ยอดเด็กคงที่มั่นใจปี 58 มีโอกาสสัดส่วนขยับทั้งตั้งเป้าเพิ่มระดับปวส.ให้ได้ 11%

วันนี้ (17 พ.ย.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา เพื่อรองรับความต้องการแรงงานฝีมือในการพัฒนาประเทศ ว่า ตนให้ความสำคัญกับการเรียนอาชีวศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพิ่มสัดส่วนนักเรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 36:64 แต่ในปีการศึกษา 2558 จะต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 40:60 และในปีถัดไปอาจขยับเป็น 45:55 และมีเป้าหมายให้ไปถึง 50:50 ในอนาคต ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการที่ สอศ.จัดการศึกษาในระบบทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชนและสถานประกอบการ การที่ สอศ. เปิดหลักสูตร พรี - อาชีวะ เพื่อเตรียมความพร้อมและลบภาพลักษณ์ในเรื่องการก่อเหตุละเลาะวิวาท และรวมทั้งการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาร่วมเป็นประธานเปิดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย ที่จะขึ้นในวันที่ 27 - 28 พ.ย. นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ตนเชื่อว่าจะเป็นการปลุกค่านิยมและเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนให้ความสนใจมาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนนักเรียนสายอาชีพต่อสายสามัญ อยู่ที่ 36:64 ซึ่งในปี 2558 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก 5% เป็น 41:59 จากนั้นในปี 2559 จะเพิ่มสัดส่วนอีก 9% เป็น 50:50 ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า สอศ. จะทำได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนเข้าศึกษาต่อสายอาชีพลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2557 สอศ. สามารถทำให้จำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนต่ออยู่คงที่ ไม่ลดลงเหมือนปีที่ผ่านๆ มาจึงมั่นใจว่า ในปี 2558 สอศ. จะสามารถทำให้นักเรียนมาเรียนต่ออาชีวะเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งไม่เฉพาะแต่เด็กในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เท่านั้น แต่จะรวมถึงเด็กในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้วยซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนนักเรียน ปวส. ให้เพิ่มขึ้น 11%

“เรามีช่องทางที่คิดว่าจะทำให้จำนวนนักเรียนมาเรียนต่ออาชีวะเพิ่มมากขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการอาชีวะ 1 อำเภอ 1 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 12 แห่ง จะเป็นจุดที่เพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะมากขึ้นจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีเด็กเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40,000 คน และในปี 2558 จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถดึงเด็กมาเรียนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพราะการเรียนในรูปแบบทวิภาคีจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กทำงานเป็น มีงานทำ และมีรายได้ดีในอนาคต ขณะเดียวกัน จะมีการจัดอบรมระยะสั้นให้แก่ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว จากปีที่ผ่านมาเข้าอบรมแล้วประมาณ 8.9 แสนคน เป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2558 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม เพราะจะให้รอแต่การผลิตเด็กอาชีวะอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และไม่ทันกับความต้องการ” เลขาธิการ กอศ. กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น