xs
xsm
sm
md
lg

กรี๊ด!! “แมลงสาบ-ยุง-เรือด” ดื้อยาฆ่าแมลง ฉีดพ่นไม่ตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แทบกรี๊ด!! “แมลงสาบ - ยุง - เรือด” ดื้อสารเคมี ฆ่าไม่ตาย เหตุเทศบาล - บริษัทกำจัดแมลงใช้สารเคมีสูตรเดี่ยว “ไซเพอร์เมทริน” โครงสร้างไม่ซับซ้อน ทำแมลงวิวัฒนาการต่อสู้ได้แบบไม่กลัว แนะเปลี่ยนกลุ่มสารเคมี ใช้สูตรผสมช่วยลดการดื้อ เผยเหตุสเปรย์กระป๋องฆ่าแมลงไม่ตาย แค่มีอาการมึน เพราะสารเคมี - น้ำแยกชั้น แนะเขย่า 20 ครั้งก่อนฉีด

ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้สารเคมีเพียงตัวเดียวหรือสูตรเดี่ยวในการกำจัดแมลง จากการศึกษาพบว่า ทำให้แมลงเกิดการดื้อยามากขึ้น โดยเฉพาะยุงที่ดื้อยาต่อสารไซเพอร์เมทริน ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์ที่นิยมใช้กันมากถึง 100% เนื่องจากโครงสร้างทางเคมีไม่ซับซ้อน ทำให้แมลงสามารถวิวัฒนาการต่อสู้จนดื้อต่อสารดังกล่าวได้ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างยุงทั่วประเทศไทยทั้งยุงลาย และยุงรำคาญ รวมถึงลูกน้ำยุงในการนำมาเลี้ยงเพื่อศึกษาการดื้อยานั้น พบว่าผลการศึกษาทั้งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล ล้วนให้ผลตรงกันว่าเกิดการดื้อยา ดังนั้น การกำจัดยุงด้วยวิธีการใช้เครื่องพ่นสารเคมี จึงควรใช้สารเคมีตัวอื่นในกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น เดลตาเมทริน แลมดาไซฮาโลทริน เป็นต้น หรือใช้สารเคมีสูตรผสมเพื่อเพิ่มความซับซ้อนทางโครงสร้างของสูตรเคมีให้แก่สารไซเพอร์เมทริน โดยอาจเติมสาร PBO ลงไป ก็จะช่วยกำจัดยุงและลดการดื้อยาได้

ดร.อภิวัฏ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พยายามลงไปให้ความรู้แก่ชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัดยุงเพื่อช่วยป้องกันและควบคุมโรคที่มาจากยุง ให้เลิกใช้สารเคมีไซเพอร์เมทริน หรือต้องใช้เป็นสารเคมีสูตรผสม หรือเปลี่ยนไปใช้สารเคมีตัวอื่นไปเลยเพื่อลดการดื้อยาของยุง ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ก็มีความเข้าใจและเริ่มเปลี่ยนตามคำแนะนำแล้ว สำหรับสเปรย์กำจัดแมลงชนิดกระป๋องจากการศึกษาไม่พบการดื้อยา เนื่องจากเป็นสูตรผสมของสารเคมี 3 - 4 ชนิด แต่เวลาใช้แล้วพบว่าแมลงมักไม่ค่อยตาย กลับมีเพียงแค่อาการมึนงงเท่านั้น เนื่องจากสเปรย์กระป๋องกำจัดแมลงเหล่านี้เป็นสูตรน้ำ ซึ่งเมื่อทิ้งไว้สารเคมีกับน้ำจะแยกชั้นกันอย่างชัดเจน หากไม่เขย่าให้สารเคมีผสมตัวกันดีเวลาฉีดออกมาก็จะมีเพียงแค่น้ำเท่านั้น ไม่ค่อยมีสารเคมีออกมาด้วย ซึ่งการใช้สเปรย์กระป๋องกำจัดแมลงควรเขย่าอย่างน้อย 20 ครั้งก่อนใช้ เพื่อให้ตัวสารเคมีผสมกับน้ำก่อน

นอกจากยุงที่ดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลงแล้ว ยังพบว่า ตัวเรือด และแมลงสาบ โดยเฉพาะสายพันธุ์เยอรมันก็พบการดื้อต่อสารไซเพอร์เมทรินด้วย เนื่องจากบริษัทรับกำจัดแมลงมักใช้สารดังกล่าวเพียงตัวเดียวในการกำจัด จึงเกิดการดื้อยาขึ้นและกลายเป็นปัญหากำจัดแมลงไม่ได้ผล สำหรับตัวเรือดนั้นแนะนำให้หันมาใช้สารอิมิดาคลอพริด ซึ่งสังเคราะห์โครงสร้างสารเคมีขึ้นมาเหมือนกับนิโคติน ซึ่งมีความซับซ้อนมากก็จะช่วยให้กำจัดตัวเรือดได้และไม่เกิดการดื้อยา ที่สำคัญคือปลอดภัยเพราะไม่ใช่นิโคตินที่ก่อให้เกิดมะเร็งจริงๆ ซึ่งสารอิมิดาคลอพริดนี้มีการนำไปกำจัดแมลงทางการเกษตรด้วย ส่วนแมลงสาบนั้นไม่ควรใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่ควรวางยาให้แมลงสาบกินด้วยสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มไพรีทรอยด์ก็จะช่วยกำจัดแมลงได้” ดร.อภิวัฏ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน
กำลังโหลดความคิดเห็น