xs
xsm
sm
md
lg

แก้ กม.45 ข้อ เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ชง สนช.31 ต.ค.ด้านเครือข่ายฯจี้ชะลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.แรงงาน ดันแก้กฎหมายประกันสังคมเข้า สนช. 31 ต.ค. นี้ เผยแก้ไข 45 ข้อเน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์ พร้อมตั้งคณะทำงานถกข้อเรียกร้องแรงงาน ด้านเครือข่ายแรงงานจี้ชะลอนำร่าง กม. ประกันสังคม เข้า สนช. เหตุไม่ตอบสนองความต้องการที่เคยเรียกร้อง จ่อบุกรัฐสภายื่นหนังสือถึงประธาน สนช.
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์
วันนี้ (29 ต.ค.) พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทางกระทรวงแรงงานจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ส่วนข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานที่เสนอให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมในการบริหารนั้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ไปก่อน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาไม่เช่นนั้นการเสนอกฎหมายจะหยุดชะงัก อยากให้เริ่มกระบวนการแก้ไขก่อน เพราะร่างกฎหมายค้างมานานแล้ว ส่วนจะมีการแก้ไขปรับเพิ่มเนื้อหาอย่างไรก็ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดย นายนภดล กรรณิกา ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน เป็นหัวหน้าขึ้นมาหารือกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเสนอ สนช. ในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่สอง

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ตนได้แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม 5 คน ได้แก่ 1. นายอำพล สิงหโกวินท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระบบงานประกันสังคม 2. รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแรงงาน 3. พลเอก ประสาท เหล่าถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ 4. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และ 5. นายสมนึก พิมลเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดจำนวนคณะอนุกรรมการประกันสังคมชุดต่างๆ ให้มีจำนวนให้เหมาะสมเท่าที่จำเป็นเพื่อประหยัดงบประมาณ

“ผมจะไม่ปล่อยให้ใครมาเป็นมาเฟีย มีอิทธิพลในประกันสังคม จากเดิมที่มีใครได้ประโยชน์จากประกันสังคมก็ต้องถอยไป เรื่องนี้ไม่ได้ทำเพื่อใครแต่ทำเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน เรื่องนี้ให้เลขาธิการ สปส. ก็ต้องไปดูระเบียบเป็นพิเศษ แต่จะทำแค่ไหนก็ต้องเป็นตามขั้นตอน” รมว.แรงงาน กล่าว

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข จะมีการแก้กฎหมายทั้งหมด 45 ข้อ โดยมีเนื้อหาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีต่างๆ ตามความเหมาะสมและแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการประกันสังคมโดยดำรงตำแหน่งได้ 2 วาระแต่ตัดคำว่าติดต่อกันออกไป และกรรมการการจะยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ สปส. ส่วนกรณีเครือญาติของกรรมการประกันสังคมจะเข้ามากรรมการประกันสังคมต้องหาวิธีการเหมาะสม เมื่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมีผลบังคับใช้ทาง สปส. จะออกระเบียบแต่งตั้งบอร์ด สปส. เพื่อวางเกณฑ์รองรับ

ด้าน นางสุนี ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวในการเวทีราชดำเนินเสวนา “ปฏิรูปประกันสังคม....ปฏิรูปประเทศไทย” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขของกระทรวงแรงงานไม่ตอบสนองต่อการปฏิรูประบบประกันสังคมตามที่ คปก. และแรงงานเรียกร้องซึ่งต้องการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้ประกันตนมีส่วนร่วมบริหาร รวมทั้งยังมีงานวิจัยจาก ม.ธรรมศาสตร์ ว่า สปส. ที่เป็นหน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดด้านโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงควรเป็นองค์กรอิสระเพื่อความคล่องตัวในการบริหาร ทั้งนี้ ทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขของกระทรวงแรงงาน จะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ จึงอยากให้ สนช. ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ไว้ก่อน และให้กระทรวงแรงงานนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของ คปก. ฉบับของแรงงานและฉบับของกระทรวงแรงงานมาบูรณาการร่วมกันโดยเฉพาะการพัฒนา สปส. ให้เป็นองค์กรอิสระและบริหารงานคล่องตัว ซึ่งจะเป็นแบบอย่างในการออกกฎหมายอย่างรอบคอบและให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ ซึ่งขณะนี้น่าห่วงว่า สนช. จะเร่งรัดออกกฎหมายมาอีก 200 - 300 ฉบับ ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องฟังเสียง และให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) กล่าวว่า คสรท. ร่วมกับ 13 ภาคี เรียกร้องให้ รมว.แรงงาน ชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เข้าสู่ สนช. และเปิดเวทีหารือกับเครือข่ายแรงงานเพื่อนำข้อเรียกร้องปฏิรูประบบประกันสังคมของเครือข่ายแรงงานไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งยึด 4 หลักการ คือ ความครอบคลุมแรงงานทุกคน ความเป็นอิสระ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนและมีความยืดหยุ่นและเป็นธรรมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ผู้ประกันตนได้เลือกตั้งผู้แทนเข้ามาเป็นบอร์ดสปส.โดยตรง ประธานบอร์ด สปส. และเลขาธิการ สปส. มาจากมืออาชีพและมีคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินกองทุน มีคณะกรรมการดูแลการลงทุน ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ต.ค. นี้ เวลา 09.00 น. ครสท. และเครือข่ายแรงงานประมาณ 100 คน จะไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. เพื่อให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต รมช.คลัง กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอเครือข่ายแรงงานที่ให้ สปส. เป็นองค์กรอิสระและตรวจสอบได้ รวมทั้งควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทั้ง 38 ล้านคน เนื่องจากไทยนำรูปแบบระบบประกันสังคมมาจากสวีเดน แต่ขณะสวีเดนปฏิรูประบบประกันสังคมไปไกลแล้วโดยให้สปส. เป็นองค์กรอิสระเพื่อความคล่องตัวและแยกระบบดูแลสุขภาพออกมาต่างหาก รวมทั้งแยกการบริหารแต่ละกองทุน ซึ่งหากในที่สุดแล้วร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ผ่าน สนช. ออกมาแต่ยังมี สปช. ซึ่งจะคอยกลั่นกรองและพิจารณาการปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งระบบประกันสังคมก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมอีกครั้ง เพื่อให้กองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น