xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษา (3) ต้องเริ่มต้นที่บ้าน/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเด็กไทยจำนวนมากที่อยู่ในระดับชั้นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้วต้องเลือกแผนการศึกษาเมื่อต้องขึ้นระดับชั้นมัธยมปลาย มักจะเกิดคำถามว่าจะเลือกเรียนอะไรดี เลือกแผนคณิต-วิทย์ดี หรือเลือกศิลป์-คำนวณ หรือเลือกศิลป์-ภาษาดี ฯลฯ แล้วส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเลือก หรือเลือกตามเพื่อน หรือเลือกเพราะเกรดเฉลี่ยที่ได้ ซึ่งสุดท้ายมักมีค่านิยมว่าเด็กที่เรียนดีก็จะเลือกสายคณิต-วิทย์ ส่วนเด็กที่เรียนปานกลางก็จะเลือกสายศิลป์-คำนวณ หรือสายศิลป์-ภาษา
ทั้งที่เด็กที่ผลการเรียนดีสามารถเรียนแผนคณิต-วิทย์ แต่ชอบที่จะเรียนทางด้านภาษา ก็มักถูกผู้ใหญ่ขับกล่อมให้เลือกเรียนแผนคณิต-วิทย์ ก็มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว
ที่สำคัญ จะมีเด็กสักกี่คนที่เลือกแผนการศึกษา เพราะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และมุ่งมั่นว่าจะเลือกเรียนแผนการศึกษาไหน แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ก็ยืนหยัดที่จะเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี !
หรือ..เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเด็กที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เกิดอาการลังเล เพราะไม่รู้จะเลือกคณะอะไรดี ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่รู้ว่าจะเลือกเพื่อไปเรียนอะไร สุดท้ายก็เลือกเพราะว่าขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เป็นพอ ส่วนจะได้คณะที่ชอบหรือไม่ชอบ ถนัดหรือไม่ถนัดกลายเป็นเรื่องรอง
พอเรียนจบออกมาก็ไม่รู้จะทำงานอะไรดี แต่ขอให้ได้อยู่บริษัทที่มีชื่อเสียง ทำงานไม่หนักและเงินเดือนดี แต่เรื่องจะทำงานที่ได้รับมอบหมายหรือเหมาะกับตัวเราหรือไม่ กลับพิจารณาในภายหลัง
ขณะเดียวกัน พอทำงานไปสักระยะหนึ่งเราก็จะพบเห็นเด็กที่จบใหม่ก็ยังคงอยากแสวงหาตัวเองต่อไป บางคนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนงานบ่อยๆ ด้วยเหตุผลว่าต้องการแสวงหา ส่วนจะแสวงหาอะไรก็ยังไม่รู้ ซึ่งก็สะท้อนวิธีคิดว่าเพราะพวกเขาเหล่านั้นยังค้นหาความชอบและความถนัดของตัวเองไม่เจอ
ใช่หรือไม่..เด็กไทยจำนวนมากที่เผชิญกับวิถีทางแบบที่กล่าวมา !
ดิฉันเองก็ประสบกับปัญหานี้บ่อยครั้ง เด็กจบใหม่ที่มาสมัครงานก็จะมีวิธีคิดหรือทัศนคติต่อการทำงานที่ไม่ตรงกับสายที่จบมา ตลาดแรงงานของเราก็จะข้ามสายอาชีพกันไปมาจำนวนมาก
ที่ผ่านมาเด็กไทยต้องเผชิญสภาพปัญหาแบบนี้มาอย่างยาวนาน แทบจะเรียกว่าเผชิญมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ ทำไมการศึกษาในระบบไม่ช่วยทำให้เด็กสามารถค้นหาตัวเองได้ว่า ชอบอะไร ถนัดอะไร และสามารถทำอะไรได้ดี


จริงอยู่ปัญหาเรื่องการศึกษาในบ้านเรามีมากเกินกว่าที่จะปล่อยลูกให้เดินตามยถากรรม หรือปล่อยให้เป็นเรื่องของโรงเรียนเท่านั้น คนเป็นพ่อแม่ต้องตั้งรับและเข้าใจว่าภายใต้สภาพปัญหาและข้อจำกัดที่มีต้องทำการบ้านมากขึ้น แสวงหาข้อมูลมากขึ้น และมีเทคนิคในการจัดการให้ลูกสามารถเข้าไปสู่ระบบการศึกษาแบบรู้จักและเข้าใจความถนัดของตัวเองเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็ควรที่จะมีส่วนในการกระตุ้นให้เขาได้รู้จักเรียนรู้ตัวเองก่อน
สิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรทำ
หนึ่งต้องเปิดโอกาส
เริ่มจากพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้จักตัวเอง รู้ถึงความชอบของตัวเอง สิ่งใดก็ตามที่เริ่มจากความชอบ ก็จะทำให้เด็กมีความอยากที่จะทำสิ่งนั้นให้ได้ดี หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องพยายามเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่ขีดเส้นชีวิตให้ลูกเดินตามที่พ่อแม่อยากให้เป็น
สองต้องสังเกต
เมื่อเปิดโอกาสแล้ว ก็ต้องสังเกตว่าลูกของเราทำสิ่งใดได้ดี เพราะบางครั้งเด็กก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำสิ่งใดได้ดีหรือไม่ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดเด็กสังเกตเห็นและชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ ก็จะทำให้เขาอยากที่จะทำสิ่งนั้นเพิ่มมากขึ้น
สามต้องพูดคุย
การพูดคุยและตั้งคำถามในแต่ละช่วงวัยอย่างสม่ำเสมอ จะฝึกให้ลูกคิด เช่น ถามว่าลูกโตขึ้นอยากเป็นอะไร แน่นอนว่าเขาอาจจะตอบไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับวัยและประสบการณ์ด้วย แต่การพูดคุยจะช่วยให้ลูกได้เกิดการคิดและเริ่มพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองอยากเป็น และเริ่มสนใจสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น
สี่ต้องแนะนำ
เรื่องการเลือกแผนการเรียน พ่อแม่ควรทำหน้าที่แนะนำและให้ข้อมูล ไม่ใช่ตัดสินใจแทนลูก หรือชี้นำว่าลูกควรเรียนอะไร โดยให้เขาเพ่งมองที่ความถนัดและความชอบของตัวเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ การให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแบบไม่โน้มเอียง เช่น ลูกเรียนสาขานี้แล้วจะมีโอกาสประกอบอาชีพการงานประมาณแนวไหน หรือสาขาที่ลูกสนใจต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ลูกตัดสินใจเอง
ห้าต้องมีความฝัน
ควรสอนให้ลูกมีความฝัน เพื่อเป็นแรงมุ่งมั่นให้เขาอยากทำตามความฝันนั้น สิ่งหนึ่งที่เด็กๆ มักจะทำเสมอในการเลือกแผนการศึกษาก็คือมักเลือกตามเพื่อน ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งถ้าได้ดำเนินการมาตั้งแต่เล็ก เขาก็จะมีความคิดความอ่านและความฝันของตัวเอง ไม่ตามเพื่อน ส่วนเด็กๆ ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าถนัดอะไร หรือชอบอะไรมักจะตัดสินใจเลือกเรียนแผนการศึกษาตามเพื่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร ก็เลยเลือกเรียนตามเพื่อน หรือติดเพื่อนบางคน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะในอนาคตเมื่อได้เรียนรู้และประสบการณ์มากขึ้น ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียใจกับการตัดสินใจในอดีต
เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องของเด็ก เป็นเรื่องภายในบ้าน แต่ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาด้วย เพราะต่อให้ระบบดีขนาดไหน แต่ถ้าค่านิยมหรือทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อการศึกษายังบิดเบี้ยวอยู่ ก็ยากที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพได้
การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน !!

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น