xs
xsm
sm
md
lg

เด็กอนุบาล อ่าน เขียนคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทึ่ง! เด็กอนุบาล ครอบครัวฐานะยากจน อ่านออก เขียนได้ 80% เรียนเป็นเซต เน้นโครงการ ต้นแบบ กระบวนการเรียนการสอน ร.ร.บ้านปลาดาว
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานโครงการ COACT (Capacity of A Community Treasures) โดย รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบางและทีมสหวิชาชีพ ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ ร.ร.บ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของดร.ริชาร์ด พี ฮ็อกแลนด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิและดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ ร.ร.สตาร์ฟิชคันทรีโฮม (Starfish Country Home School Foundation) หรือ ร.ร.บ้านปลาดาว เพื่อนำรูปแบบกระบวนการเรียนการสอนไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบด้านการปฐมวัยด้วยการพัฒนาแบบก้าวกระโดด

ดร.ริชาร์ด กล่าวว่า เมื่อปี 2548 มูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา การดูแลทางการแพทย์ สำหรับเด็กเร่ร่อนข้างถนนในแถบเอเชีย รวมถึง ร.ร.บ้านปลาดาว ซึ่งเป็น ร.ร.ที่ให้ที่พักและการศึกษาสำหรับเด็กชาวเขายากจน โดยใช้เงินทุนของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ กระบวนการเรียนการสอนช่วงเช้าจะเรียนเป็นรายวิชาปกติตามหลักสูตร แต่ช่วงบ่ายจะเรียนโดยใช้กระบวนการ Project Approach แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเริ่มต้นโครงการ เป็นระยะที่ครูและเด็กร่วมกันอภิปราย เพื่อเลือกหัวข้อที่จะศึกษา โดยเรื่องที่จะศึกษาต้องเป็นเรื่องที่สามารถบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติ 2.ดำเนินการ เป็นหัวใจของการทำโครงการ ซึ่งประกอบด้วยการสืบค้นจากแหล่งต่างๆ เช่น ฟังวิทยากรบรรยาย ทัศนศึกษา ค้นหาจากหนังสือ โดยครูมีหน้าที่ในการจัดหา จัดเตรียมแหล่งข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้กับเด็ก และ 3.สรุปโครงการ เป็นระยะที่เด็กสรุปและทบทวน รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เด็กได้ค้นคว้ามา เพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริง โดยเด็กๆ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และนำเสนอข้อมูลและข้อคนพบต่างๆ ซึ่งการเรียนเป็นโครงการถือเป็นจุดเด่นของ ร.ร.

ดร.ริชาร์ด กล่าวต่อว่า การเรียนสาระสำคัญทั้ง 8 วิชา ร.ร.จะสอนเป็นเซต เช่น วิชาภาษาไทยพยัญชนะ ก-ฮ หากเป็น ร.ร.ปกติจะเน้นการท่องจำตั้งแต่ ก.จนจบที่ ฮ.เรียงกันมา แต่ที่ ร.ร.จะสอนด้วยการแบ่งเป็นหมวดหมู่ของสัตว์ ก ค ช ล, ม ง ส ต,ป ผ น ฮ และใช้ภาพเป็นสื่อการสอน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าลำพังให้เด็กพูดและฟังภาษาไทยยังยาก โดยก่อนที่เด็กจะเรียนอนุบาล 1 จะมีการปรับพื้นฐานเด็กทุกคน 6 สัปดาห์ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษจะไม่สอนแบบรวดเดียว A-Zแต่จะใช้การสอนเป็นเซตที่ 1 A B C D เซต 2 E F G H เซต 3 I J K L เพื่อให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจรู้จักตัวอักษรก่อน จึงสามารถพูด อ่าน เขียนได้เป็นรายบุคคลและทั้งชั้นเรียน ถึงร้อยละ 80 จึงจะเรียนเซตต่อไป โดยจะมีการวัดและประเมินผลจากครูผู้สอน ใน 1 ห้อง มีครู 2 คน เด็ก 20-25 คน ช่วยกันสอนและประเมินผลเด็กเป็นรายคน โดยทุกวิชาจะสอนในลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับเด็กปฐมวัยได้อย่างดี เพราะเด็กอนุบาล1-3 สามารถพูด อ่าน เขียน ได้ทั้ง 2ภาษา รู้จักการนำเสนอหน้าชั้นเรียน กล้าตั้งคำถาม และยกมือแย่งกันตอบคำถามคุณครูอย่างสนุกสนาน โดย ร.ร.จะมีการยืดหยุ่นหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน จะไม่ให้ครูมุ่งสอนให้จบตามบทเรียน หากเด็กไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจ เช่น ร.ร.ของไทยที่มักจะสอนเป็นบทเรียน และครูมักจะถามกันว่าวันนี้เรียนถึงบทไหนแล้ว แต่ ร.ร.จะเน้นสอนเป็นเซต เมื่อเซตที่หนึ่งไม่ได้ ก็จะไม่ปล่อยผ่านไปเรียนในเซตที่สองอย่างเด็ดขาด

“บรรยากาศในห้องเรียน อ.1 กำลังเรียนรู้เรื่องดอกไม้ ซึ่งมีสื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาพวาด รูปภาพ ดอกไม้จริง ดอกไม้ที่เกิดจากการประดิษฐ์ สื่อทุกอย่างเด็กมีส่วนร่วมในการทำ การหา สิ่งที่คณะโครงการ COACT ต่างตื่นตา ตกใจ คือการที่เด็กออกไปหน้าชั้นเรียนใช้ไม่ชี้ไปที่ภาพและอ่านคำที่มีองค์ประกอบของดอกไม้ โดย ดร. ริชาร์ด ร่วมซักถามเป็นภาษาอังกฤษ เด็กทุกคนช่วยกันตอบเสียงดัง ฟังชัด ซึ่งไม่เพียงชั้น อ.1 คณะได้เข้าไปเยี่ยมชมชั้น อ.2 กำลังเรียนรู้เรื่องบ้านของเรา ชั้น อ.2 ซึ่งเป็นห้องที่เป็นเด็กใหม่รับเข้ามาเมื่อเดือน ก.พ.57 เรียนรู้เรื่องการทำวุ้น รวมถึงชั้น อ.2 ที่เป็นเด็กนักเรียนที่เข้ามาใหม่เมื่อช่วงเดือน ก.พ.57 เรียนเรื่องการทำวุ้น อนุบาล 3 เรียนการทำโดนัท โดยทุกชั้นเรียนที่เยี่ยมชมเด็กทุกคนอ่าน พูด และเขียนได้ 2 ภาษา ประเด็นสำคัญเด็กมีพัฒนาการพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ” รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว

รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ ด้วยการแนะนำของ UNICEF ซึ่งต้องการให้เห็นกระบวนการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญโดยมองเด็กเป็นรายคน มองสภาพแวดล้อมที่เด็กสัมผัส และให้เด็กเลือกหัวข้อที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้เด็กเกิดความสนใจ ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อนำมานำเสนอแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน เป็นการเรียนที่ยืดหยุ่นเป็นไปตามศักยภาพของเด็ก และสิ่งสำคัญคือการเตรียมครูผู้สอนให้เข้าใจกระบวนการสอน โดยครูต้องจัดทำแผนการสอนตลอดทั้งปี 100 ชั่วโมง มีการประเมินผลผู้เรียนรายคนหลังการสอน มีการประชุมครูทุกสัปดาห์เพื่อแลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาระหว่างสอน ทำให้ครูตื่นตัวและพร้อมเรียนรู้ไปกับเด็ก ทั้งนี้ ร.ร.บ้านปลาดาวเด็กทุกคนพักอาศัยอยู่ใน ร.ร.จึงมีความใกล้ชิดกับครู ซึ่งมีความแตกต่างจาก ศพด.ทั้ง 17 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ COACT เพื่อพัฒนาแบบก้าวกระโดดใน 5 ระบบหลัก คือ 1.ระบบบริหารจัดการ 2.ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3.ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4. ระบบการดูแลสุขภาพ และ 5.ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ฉะนั้น ร.ร.บ้านปลาดาวจึงนับเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่สำคัญต่อการนำรูปแบบมาปรับให้เหมาะสมกับ 5 ระบบ และสอดคล้องกับบริบทของ ศพด.แต่ละแห่ง ในการมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยของไทยสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากทุกภาคส่วนในชุมชนท้องถิ่น ทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างเร่งด่วนที่สุด

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น