“หมอรัชตะ” ยื่นใบลาออกจากอธิการบดี ม.มหิดล แล้ว มีผล 31 ธ.ค. นี้ พร้อมขอลากิจตั้งแต่ 16 ต.ค. - 31 ธ.ค. เพื่อทำหน้าที่ รมว.สาธารณสุข แบบเต็มเวลา ตั้ง “หมอสุวรรณา” รักษาการแทน ขณะที่ สภา ม.มหิดล ตั้ง “หมอประเวศ” เป็นประธานสรรหาอธิการฯคนใหม่ ยื่น 3 รายชื่อในวันที่ 17 ธ.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศเลือกดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เพียงตำแหน่งเดียว หลังจากถูกประชาคมมหิดลตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการควบ 2 ตำแหน่ง จนสภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ ศ.นพ.รัชตะ ตัดสินใจเลือกเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยล่าสุด วันนี้ (15 ต.ค.) ได้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย จึงเป็นที่จับตาว่าต่อจากนี้ ศ.นพ.รัชตะ จะตัดสินใจยื่นใบลาออกเมื่อไร และการบริหารงาน ม.มหิดล จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
ทั้งนี้ หลังจากการประชุมสภาฯ ยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง เมื่อเวลา 18.00 น. นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวภายหลังประชุมว่า ศ.นพ.รัชตะ ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ม.มหิดล ซึ่งลงวันที่ 15 ต.ค. 2557 ต่อที่ประชุมสภาฯแล้ว โดยจะมีผลในวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ซึ่งการบริหารงานระหว่างนี้ ศ.นพ.รัชตะ ได้มอบหมายให้ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดี ม.มหิดล รักษาการแทนอธิการบดี เนื่องจาก ศ.นพ.รัชตะ จะขอลากิจตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. - 31 ธ.ค. เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ รมว.สาธารณสุข อย่างเต็มเวลา สำหรับการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ที่ประชุมได้แต่งตั้ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งจะต้องดำเนินการสรรหาและเสนอชื่อต่อสภาฯภายในวันที่ 17 ธ.ค. นี้ จำนวน 3 คน เพื่อให้สภาคัดเลือกเพื่อนำรายชื่อโปรดเกล้าฯต่อไป โดยระหว่างที่รอการโปรดเกล้าฯ จะให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารักษาการในตำแหน่งอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558
“ บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่ก็ยึดตามมติของเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ และ นายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก็อยู่ร่วมในการหารือตลอดเวลา โดย ศ.นพ.รัชตะ มีความเป็นสุภาพบุรุษ เคารพในกติกาของมหาวิทยาลัย ที่อธิการบดีจะต้องทำงานเต็มเวลา จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง ไปทำหน้าที่ รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นงานที่หนักและต้องทำเต็มเวลาเช่นกัน ทางออกนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นตัวอย่างที่ดีของบ้านเมือง เพราะมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่าง แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี ทุกคนมีความสุข ” นพ.วิจารณ์ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
Loadingเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น