xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะระวังเด็กติดสื่อขั้นวิกฤต หนุน พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการออกโรงหนุน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แนะเฝ้าระวังเด็กติดสื่อ อย่าปล่อยถึงขั้นวิกฤต ชี้ รัฐ เอกชน ภาคประชาชนควรทำงานร่วมกัน เด็กเป็นศูนย์กลาง ด้านผู้ผลิตสื่อโอดวังวนรายการเด็กสปอนเซอร์น้อย ต้องสู้กับนโยบายสถานีตัวเลขเรตติ้ง วอน สนช. พิจารณารอบด้านก่อนออก กม.

วันนี้ (13 ต.ค.) รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวถึงสถานการณ์การเสพสื่อของเด็กและเยาวชน ว่า ปัญหาการเสพสื่อของเด็กในกระแสหลักโดยทั่วไปถือว่ามีน้อยกว่า สื่อใหม่ หรือ ออนไลน์ เช่น 1. อินเทอร์เน็ต 2. ผ่านอุปกรณ์เช่น ซีดี วีซีดี หรือการใช้อุปกรณ์อย่างแล็บท็อป ไอแพด 3. ผ่านโทรศัพท์โดยตรง โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์ของเด็กนักเรียน ที่ปัจจุบันผู้ปกครองมักให้เด็กพกติดตัวเพื่อความสะดวกในการติดต่อ ซึ่งโทรศัพท์ถือว่าเป็นการเสพสื่อโดยตรงที่ปัญหา ทั้งนี้ สถานการณ์การเสพสื่อของเด็กสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ เข้าสู่สภาวะเสพสื่อน้อย ปานกลาง และมากเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด คือ กลุ่มที่เสพน้อยถึง เสพปานกลาง ที่ต้องมีเกราะป้องกัน ไม่ให้เข้าสู่อันดับ 3 คือ เสพสื่อขั้นวิกฤต
 
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเยาวชนกับสื่อที่มีสถานการณ์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้มีหน่วยงานใดที่ทำงานแก้ไขอย่างชัดเจน แม้รัฐมีกระทรวงไอซีที คอยทำงานอยู่ แต่โดยส่วนใหญ่ทำเพียงแค่ปิด หรือ บล็อกเว็บไซต์ต่างๆ ตามความคิดของผู้ใหญ่ ไม่ได้ใส่ใจความคิดเด็ก หรือ ติดตามพฤติกรรมเด็กว่า เขาดูเว็บไซต์อะไรบางที เว็บไซต์ที่รัฐปิด อาจไม่มีผลกับเด็กเลยเพราะเขาไม่ได้สนใจ ในขณะที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่อย่างน้อยก็ยังมีภาคประชาสังคม นักวิชาการ เอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจังอยู่บ้าง
 
“การทำงานควรมีการหนุนต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐ เพื่อให้ครบวงจรทั้ง 3 ขา นั้นคือ รัฐ เอกชน ภาคประชาชน โดยทำงานภายใต้เป้าหมายรอบตัวเด็ก ไม่ใช่มีรัฐเป็นศูนย์กลางในการทำงาน แต่ต้องมีเด็กเป็นศูนย์กลางในการทำงาน ทั้งนี้ รัฐต้องให้ความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... ฉบับที่เคยผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการแล้วเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ เพื่อที่ต่อไปเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชนจะได้มีสื่อดี มีช่องทางการเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาและคุณค่าหลากหลาย รวมถึงเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพราะหากลำพังแค่คิดแต่ไม่มีการสนับสนุนก็ไม่สามารถสร้างสรรค์สื่อ หรือผลิตสื่อคุณภาพเพื่อเด็กได้ เพราะเรื่องนี้คือสิ่งสำคัญ การสร้างสื่อคุณภาพ คือ เกราะป้องกันให้เด็กในระยะยาว แต่ต้องคิดแบบเข้าถึงเด็ก ไม่ใช่คิดแบบรัฐมากำหนดและไม่ใช่ต่างคนต่างทำงาน” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
 
ด้านนายวิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ ผู้ผลิตรายการเด็กชื่อดัง อย่างรายการซุปเปอร์จิ๋ว กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ผลิตรายการเด็กยังอยู่ในปัญหาวังวนเดิมๆ เหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา และช่องทางรายการเด็กก็มีน้อย และต้องขึ้นอยู่กับนโยบายสถานีเป็นหลัก เวลาที่ได้ออกอากาศก็ไม่ใช่ช่วงไพร์มไทม์ ทั้งนี้ รายการเด็กเป็นรายการดี มีความสำคัญและส่งผลต่ออนาคตของประเทศ แต่ในความเป็นจริงเป็นแค่เพียงคำพูด เพราะในทางปฏิบัติสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจริง ผู้ผลิตรายการสร้างสรรค์เพื่อเด็กต้องต่อสู้กับนโยบายของช่อง และความยากในการหาผู้สนับสนุนเพื่อผลิตรายการ นับว่าเป็นปัญหามาก แต่เราก็เลือกทำงานด้านนี้แล้ว เพราะมีเป้าหมายที่ว่าทำในสิ่งที่อยากทำ การทำรายการเด็กอย่าหวังเรื่องรายได้อู้ฟู่
 
“การทำรายการเด็กแบบโมเดลรับจ้างผลิต ไม่ได้มีความชัดเจนมากนักสำหรับคนทำงาน เพราะบางทีอาจมีการจ้างแค่ 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อคนทำงานด้านนี้ และหวังว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า เพราะมีทีวีดิจิตอล เนื่องจากมีช่องเพิ่มขึ้น ช่องเด็ก ครอบครัว แต่ทั้งนี้ก็ยังอยู่ในวังวนปัญหาอุปสรรคเดิม คือ งบประมาณเท่าเดิม แต่การมีช่องเพิ่ม มีรายการเพิ่ม การแข่งขันสูงขึ้นภายใต้งบประมาณที่เท่าเดิม อย่างไรก็ตามคนทำงานรายการเด็กมีอุดมการณ์ที่ดี เพียงแต่มีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างตามความถนัด สิ่งที่ต้องระวัง ในการนำเสนอคือ ปรารถนาดีของผู้ใหญ่ที่มากเกินไป นั้นคือ การให้ โดยเด็กไม่อยากรับ ซึ่งนั้นหมายถึงความน่าเบื่อ” นายวิวัฒน์ กล่าว
 
นายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่าว่า อยากฝากไปถึง สนช. และรัฐบาล หากมีการออกร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถือเป็นเรื่องดี แต่ขอให้ผู้ผลิตรายการเด็ก หรือ ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานด้านสื่อรายการเด็กต่างๆ หลากหลายกลุ่ม ได้เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ เพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง เนื่องจากหากได้มีการพูดคุยกัน ก็จะได้มุมมอง ความคิด และควรมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตรายการเด็กกลุ่มต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาออกกฎหมายด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเก็บข้อมูลจากฝั่งผู้ผลิตรายการเด็กเลย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น