xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ส่อแยกร่าง! “ณรงค์” สั่ง “สอศ.-สกอ.-สกศ.” ศึกษาอยู่รวมหรือแยกแบบไหนดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.ศึกษาธิการ สั่งศึกษาแนวทางแยกร่างกระทรวง เน้น 3 หน่วยงานหลัก คือ สกอ. สอศ. และ สกศ. ชี้โครงสร้างในปัจจุบันใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไป ส่งผลให้บริหารจัดการไม่คล่องตัว และกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน ระบุให้เวลา 1 เดือน กลับมาคุยกันอีกครั้งหากมีเสียงสวนใหญ่สนับสนุนเดินหน้าแยกกระทรวง พร้อมย้ำเป็นแนวคิดส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแต่พร้อมยื่นข้อเสนอนี้ให้ สปช. นำไปพิจารณาด้วย

วันนี้ (9 ต.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปพิจารณาดูว่าควรจะแยกตัวออกจากกระทรวงศึกษาฯ หรือไม่ ทั้งนี้ เพราะโครงสร้างของ ศธ. ในปัจจุบันนั้น ใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไปทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว การดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดที่มีอยู่กว่า 8 แสนคนก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เพราะฉะนั้น จึงให้ไปศึกษาดูว่า การแยก 3 หน่วยงานนี้ออกจากกระทรวงศึกษาฯ จะมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร

ความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเดิมที่เคยเป็นมาก่อน อย่าง สกอ.เดิมเคยเป็นทบวงมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมารวมอยู่ใน ศธ. เมื่อปี พ.ศ. 2546 ก็ให้ลองไปศึกษาดูว่าก่อนหรือหลังรวมอยู่ใน ศธ. อย่างไหนบริหารจัดการได้ดีกว่ากัน และถ้าแยกออกไปเป็นกระทรวงต่างห่างจะเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกว่าหรือไม่ ขณะที่ สกศ. นั้นเดิมเคยสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมารวมอยู่ใน ศธ. ก็ให้ศึกษาเช่นกันว่าอยู่กับ ศธ. หรืออยู่กันสำนักนายกฯ อันไหนดีกว่ากัน ขณะที่ สอศ. นั้น ก็เป็นเหตุผลเดียวกับของ สกอ. ให้ไปศึกษาดูว่าการอยู่รวมกับ ศธ. หรือแยกไปเป็นอยู่ต่างหาก รูปแบบไหนจะเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น ยังไม่เป็นข้อสรุปอย่างเป็นทางการแค่ต้องการให้แต่ละหน่วยงานไปรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อดีและข้อด้อยของการแยกออกไปอยู่ต่างหากมา ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าแยกออกไปดีกว่าก็จะเดินหน้าทันที แต่ทุกคนเห็นว่าอยู่แบบปัจจุบันดีแล้วเรื่องนี้ก็จบ” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เรื่องที่ได้สั่งการให้ทั้ง 3 องค์กรหลักไปศึกษาในเรื่องนี้ เป็นแนวคิดส่วนตัวไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแต่ก็จะนำปัญหานี้โยนเข้าไปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้ สปช. ด้านการศึกษา หยิบขึ้นมาหารือ ขณะที่ ศธ. เองก็ทำการศึกษาและวิจัยควบคู่ไปกันไป เพราะฉะนั้น ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงไม่ใช่เรื่องตายตัว ถ้าแยกออกไปและบริหารจัดการได้ดีกว่าก็ควรจะดำเนินการ แต่ถ้าแยกออกไปแล้วระยะหนึ่งพบว่าเกิดปัญหาก็อาจจะกลับมารวมอีกได้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลากร ทุกคนยังทำงานเหมือนเดิมเพียงแค่เปลี่ยนสังกัดหรือเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ทั้งนี้ จะให้เวลาศึกษาเบื้องต้นประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานไปศึกษาเรื่องนี้แล้ว โดยให้ไปวิเคราะห์ว่าโครงสร้างการจัดอาชีวศึกษาที่ทำอยู่ในปัจจุบันว่ามีปัญหาใดหรือไม่ หากมีสาเหตุของปัญหานั้นมาจากอะไร และการแยกออกไปจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ นอกจากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ให้ไปสำรวจความเห็นเรื่องนี้จากอดีตผู้บริหารของ สอศ. คนใน สอศ. รวมภึงภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมด้วย รวมถึงเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากสังคม นอกจากนั้น สอศ. จะไปดูงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมรีวิวการจัดการอาชีวศึกของต่างประเทศด้วย

คำตอบมี 3 รูปแบบ คือ อยู่ที่เดิม, เพิ่มหน่วยงานระดับกรมภายใน สอศ. เพื่อรองรับภาระงานต่างๆ และแยกออกไปตั้งเป็นกระทรวง ดูภาระงานด้วยว่า มีภาระงานมากพอตั้งเป็นกระทรวงหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ ให้คณะทำงานไปศึกษามาทั้งหมด ได้คำตอบเบื้องต้นปลาย ต.ค. รายละเอีดยทั้งหมดเสร็จภายใน 3 เดือน” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานการประชุมแล้ว ถึงข้อเสนอจาก รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ทุกหน่วยงานไปศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของการแยกหน่วยงานต่างๆ ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับ สกอ. มีข้อเสนอล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่า อยากขอแยกหน่วยงานออกมาจาก ศธ. แต่จะเป็นรูปแบบ ทบวง หรือ กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย นั้น สกอ. จะเร่งกลับมาหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ โดยเร็วต่อไป
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

รุ่นพี่เทคโนฯสวนนันขอขมาอธิการบดี กรณีหยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง ขณะที่ผลสอบวินัยสั่งลงโทษไม่ร้ายแรง ตักเตือน 23 คน ภาคทัณฑ์ 10 คน ตัดคะแนนความประพฤติอีก 10 คน

ดูบน Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น