xs
xsm
sm
md
lg

วอนรัฐดันกองทุนสื่อปลอดภัยหวังเด็กรู้เท่าทันสื่อ เผย 23 ล้านคนติดสื่อเกิน 8 ชม.ต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายสื่อเพื่อเด็กร่วมถกปัญหาเด็กติดสื่อ วอนรัฐบาล เร่งผลักดันกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ หวังให้ทุกคนเข้าถึง เท่าทันสื่อ ด้าน เผยเด็กไทย 23 ล้านคน หมกมุ่นกับสื่อเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน พบรุนแรง-ไม่เหมาะสม-ลามก-อนาจาร นักสังคมสงเคราะห์ ชี้เด็กถูกทารุณทางเพศ เกือบ 100% สื่อเป็นปัจจัยร่วม พบอายุต่ำสุดเพียง 7 เดือน

วันนี้ (29 ก.ย.) เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ร่วมกับเครือข่ายสื่อเด็กเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อเยาวชนเพื่อการพัฒนา จัดเสวนา “กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ช่วยเด็กไทยเท่าทันสื่อร้าย...ได้จริงหรือ” โดยมีตัวแทนเยาวชนยื่นข้อเสนอถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... ฉบับประชาชน
 
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เครือข่ายครอบครัวและเครือข่ายเด็ก ได้ร่วมกันสนับสนุนผลักดันจนเกิดเป็นร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... ฉบับประชาชน โดยเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.นี้มีทั้งงานวิจัย ผลการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆกว่า 20 ครั้ง และการเข้าชื่อ 12,500 รายชื่อเพื่อสนับสนุน อีกทั้งการผ่านขั้นตอนของคณะกรรมาธิการและรัฐสภาแล้ว ถือว่าเนื้อหามีความสมบูรณ์ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงทำให้ร่างนี้ตกไป
 
“ปัจจุบันเรามีรัฐบาลใหม่ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปรากฏว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอร่าง พ.ร.บ. อีกฉบับเข้ามา ซึ่งเป็นร่างที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยและเกิดการตั้งคำถามว่าในเมื่อ พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชนมีความสมบูรณ์แล้ว ทำไมต้องไปตั้งต้นที่ศูนย์ใหม่ จึงอยากเรียกร้องให้ สนช. และคณะรัฐมนตรี พิจารณาอย่างรอบด้านและนำร่าง พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชน กลับมาเข้าวาระในสมัยนี้ด้วย เนื่องจากร่างฉบับนี้จะทำให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว รวมไปถึงชุมชนได้มีสื่อดีๆ มีช่องทางการเข้าถึงสื่อ ทั้งสื่อมวลชน และสื่อชุมชน ที่มีเนื้อหาและคุณค่าหลากหลายเหมาะกับเด็กและเยาวชน รวมถึงเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากร่างที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพราะสนับสนุนเพียงผู้ประกอบการสื่อที่เป็นมืออาชีพ และไม่มีกระบวนการสรรหาคัดเลือกคณะกรรมการ ไม่ยอมระบุงบประมาณการเงินให้ชัดเจน” นางสาวเข็มพร กล่าว
 
ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ภาคประชาชนจะเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบต่อไป และอยากเชิญชวนให้ประชาชนได้ร่วมติดตามร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ...ฉบับประชาชน เพื่อสนับสนุนให้กลายเป็นสื่อนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ทุกคนได้เข้าถึง เชื่อว่ากองทุนนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของกระบวนการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ ซึ่งนโยบายและภารกิจของกองทุนจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวให้ได้ใช้สื่อที่ปลอดภัยทั่วถึงและกว้างขวาง นอกจากนี้เราพยายามเรียกร้องให้กองทุนมีความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้โครงสร้างของราชการ
 
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและเด็กใช้เวลาอยู่กับสื่อมาก ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า เด็กและเยาวชนไทยประมาณ 23 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อไม่น้อยกว่าวันละ8 ชั่วโมง แบ่งเป็นโทรทัศน์ 5.7 ชั่วโมง อินเทอร์เน็ต 3-5 ชั่วโมง ขณะที่พื้นที่สื่อดีๆ ของเด็กเยาวชนมีน้อยมาก โดยวิทยุเด็กมีเพียงร้อยละ 1 เกมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับเด็ก 13 ปีขึ้นไป เนื้อหาส่วนใหญ่ คือ “การต่อสู้” ภาพยนตร์ร้อยละ 64 ไม่เหมาะกับเด็ก สำหรับรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่มีความรุนแรงชั่วโมงละ3.3 ครั้ง การ์ตูนกว่าครึ่งล้วนแต่ใช้ความรุนแรง ส่วนเว็บไซต์ยอดนิยมกว่าครึ่งเป็น “สีเทา” ที่ใช้ภาษาไม่เหมาะสมและเรื่องเพศ และอีกร้อยละ17.5 เป็น “สีดำ” หยาบคาย รุนแรง ลามก
 
“สัดส่วนของสื่อเหล่านี้ที่จะเกิดประโยชน์กับเด็กและเยาวชนแทบไม่มีเลย หนำซ้ำมีสื่อจำนวนมากที่สร้างผลกระทบรอบด้าน ดังนั้นกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงจำเป็นที่จะช่วยแก้ปัญหา เพื่อช่วยให้เด็กเยาวชน ประชาชน องค์กรต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อปลอดภัย มีความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะผลักดันอย่างไร ลำพัง สนช. เสนอเองไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่รัฐบาลส่งผ่านมายังสภาแล้ว ก็ไม่น่ากังวล แต่จะมาเร็วมาช้าต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล เชื่อว่า รัฐบาลสนใจในเรื่องที่มีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ จึงมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่จะผ่านการพิจารณาร่างฉบับนี้” นายวัลลภ กล่าว
 
ด้าน นางณัฐวดี ณ มโนรม นักสังคมสงเคราะห์เชี่ยวชาญ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ปรากฏการณ์เด็กติดสื่อทั้งโทรทัศน์ สื่ออินเทอร์เน็ต เพราะเข้าถึงง่าย มีให้เลือกชมหลากหลายช่องทาง ถูกปลุกเร้าในเชิงลบ ยากต่อการควบคุม ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ครอบครัวไม่มีเวลา ครอบครัวอ่อนแอ ดังนั้น เมื่อเด็กใช้เวลาอยู่กับสื่อเหล่านี้มากเกินไปจะถูกชักจูงได้ง่าย เช่น ในกลุ่มเด็กที่เหงาหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หากผู้ปกครองไม่สอนหรือไม่มีเวลาใส่ใจ พฤติกรรมอารมณ์ของเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาสังคมยากต่อการแก้ไข
 
“สิ่งที่น่าห่วงคือเกือบ 100% เด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศมาขอรับการรักษา มีสาเหตุมาจากสื่อเป็นปัจจัยร่วมแทบทั้งสิ้น เช่น ใช้สื่อโซเชียลพูดคุยกัน นัดเจอกัน จนสุดท้ายถูกล่วงละเมิดทางเพศ บางรายมีปัญหาตั้งครรภ์ตามมา ที่สลดใจคือกรณีอายุน้อยสุดเด็ก 7 เดือน ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิด โดยพบว่าผู้ก่อเหตุมีปัจจัยกระตุ้นมาจากการใช้สื่อและสารเสพติด หรือแม้กระทั้งความรุนแรงที่มาจากสื่อจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการ” นางณัฐวดี กล่าว
 
นางณัฐวดี กล่าวด้วยว่า เด็กที่เข้ามารับการรักษากับทางโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นปลายเหตุและยากต่อการรักษาแล้ว เช่น เด็กติดเกมมีพฤติกรรมอารมณ์รุนแรง ไม่ไปเรียนถูกออกจากระบบการศึกษา โดยแนวทางที่เรารักษาบำบัดคือ ปรับพฤติกรรมใหม่ทั้งการเลี้ยงดูของครอบครัว สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และที่สำคัญ สื่อต่างๆ ต้องตระหนักและรับผิดชอบสังคม รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองผลิต ขณะเดียวกันครอบครัวต้องเข้มแข็งตระหนักในปัญหาสามารถจัดการกับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นไม่ปล่อยให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทั้งนี้หากมีการผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็ถือเป็นเรื่องดีเพราะมีความสำคัญ อย่าลืมว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลิตสื่อเชิงบวก และขยายเข้าไปสู่ระบบการศึกษา ระบบครอบครัว ควรมีกิจกรรมในเชิงป้องกันให้มากขึ้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น