xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นผล “อีโบลา” ชาวดัตช์รอบ 2 สธ.ยันไม่กลายพันธุ์แพร่ทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชาวดัตช์อาการป่วยดีขึ้น รอลุ้นผลตรวจเลือดอีโบลารอบ 2 ด้าน สธ.ยันไวรัสอีโบลากลายพันธุ์จนเปลี่ยนวิธีการติดเชื้อสารคัดหลั่ง มาเป็นทางเดินหายใจเป็นไปไม่ได้

วันนี้ (15 ก.ย.)​ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงคืบหน้าอาการผู้ป่วยชาวเนเธอร์แลนด์เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลารายที่ 2 ของไทย ว่า อาการโดยทั่วไปดีขึ้น ไม่มีไข้ ไอน้อยลง เสมหะเริ่มเป็นสีขาว น้ำมูกใส ไม่ต้องให้ออกซิเจน สามารถรับประทานอาหารได้ เดินไปมาในห้องพักได้ ช่วยตัวเองได้ ส่วนผลการตรวจเลือดครั้งแรก ไม่พบเชื้อไวรัสอีโบลา ไข้เลือดออก และมาลาเรีย เบื้องต้นเข้ากันได้กับไข้หวัด ส่วนการตรวจเลือดครั้งที่ 2 จะรู้ผลในช่วงค่ำวันที่ 15 ก.ย. ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานต้องเจาะ 2 ครั้ง เพราะสามารถพบเชื้อได้ในวันที่ 5 นับตั้งแต่วันที่เป็นไข้ได้ เมื่อผลเลือดออกมาอย่างเป็นทางการจึงจะพิจารณาให้ผู้ป่วยกลับบ้านต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของอีโบลา พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทั้งหมด 4,366 ราย เสียชีวิต 2,218 ราย แบ่งเป็น ประเทศไลบีเรีย ป่วย 2,081 ราย เสียชีวิต 1,137 ราย เซียร์ราลีโอน ป่วย 1,424 ราย เสียชีวิต 524 ราย กินี ป่วย 861 ราย เสียชีวิต 557 ราย ไนจีเรีย ป่วย 21 ราย เสียชีวิต 8 ราย เซเนกัล ป่วย 3 รายไม่มีเสียชีวิต โดยประเทศไนจีเรีย และเซเนกัล ถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ สำหรับการติดตามผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง พบว่าตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. - 14 ก.ย. มีผู้เดินทางผ่านพรมแดนมา 1,338 ราย เข้าข่ายต้องติดตาม 529 ราย และเข้าข่ายสอบสวนโรคเพียง 2 ราย

นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีนักวิทยาศาสตร์ระบุถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสอีโบลาอาจทำให้เกิดการติดต่อผ่านทางเดินหายใจ ว่า ไวรัสมีการพัฒนาตัวเองและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ประวัติศาสตร์ของการระบาดวิทยา ไม่เคยมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการติดต่อของเชื้อ เช่น โรคเอดส์ ก็พบว่ามีการกลายพันธุ์ของไวรัสเอชไอวีเรื่อยๆ แต่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงวิธีการติดต่อจากสารคัดหลั่งเป็นวิธีอื่น ซึ่งการวิเคราะห์ว่าจะกลายพันธุ์เป็นเรื่องทางทฤษฎี แต่ทางปฏิบัติถือว่ายังไม่มีความเป็นไปได้

นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงานว่าการระบาดที่รุนแรงยังอยู่ในประเทศไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน ซึ่งเกิดความขาดแคลนในโรงพยาบาล เตียง บุคลากร ซึ่งองค์การอนามัยโลก กำลังเพิ่มความช่วยเหลือให้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศห่างไกลการระบาด แต่มาตรการเตรียมพร้อมได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งการวางระบบ เช่น​ การเฝ้าระวังติดตามผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด การเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล ซึ่งกำลังอบรมโรงพยาบาลศูนย์ให้พร้อมในการรับผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม เป็นต้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น