xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มเตียง ไอ.ซี.ยู.เด็ก ลดทารกตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เขตสุขภาพภาคเหนือตอนบน จัดระบบดูแลรักษาทารกแรกเกิดอาการวิกฤต เพิ่มเตียง ไอ.ซี.ยู.เด็กในโรงพยาบาลชุมชนรวมกว่า 40 เตียง ลดอัตราการเสียชีวิตเด็กได้

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีอภิปรายเรื่อง “การจัดบริการที่ดีกว่า (The Better Service)” ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 ว่า การปฏิรูปเขตสุขภาพเพื่อจัดบริการที่ดีกว่าของแต่ละพื้นที่นั้น จะมีความหลากหลาย แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะกำกับโดยทีมบริหารเขตสุขภาพ โดยโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดจะต้องร่วมกันบริหารจัดการ เพื่อให้ปรากฏผลต่อผู้รับบริการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 3 เรื่องหลัก คือ 1. ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกรายได้พบหมอในโรงพยาบาลทุกระดับ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในและนอกเวลาราชการ 2. เวลารอรับบริการไม่นาน อาจมีการปฏิบัติแตกต่างกัน เช่น เพิ่มเวลาให้บริการ เพิ่มจุดให้บริการใน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือจัดบริการร่วมในชุมชน เพื่อลดความแออัดที่ต้องไปรอตรวจในโรงพยาบาล และ 3. อยู่ใกล้ไกล ได้ยาเดียวกัน เพื่อความมั่นคงของระบบยา โดยเฉพาะยารักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ยาจิตเวช ยาเบาหวาน ยาโรคความดันโลหิตสูง สามารถรับได้ที่ รพช. หรือที่ รพ.สต. โดยทุกแห่งจะใช้ยาตัวเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชน และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การจัดซื้อยาร่วมกันในระดับเขต เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ให้ประชาชนได้รับยารักษาโรคที่มีคุณภาพดี

ด้าน พญ.ปัฐมาลักษณ์ เผือกผ่อง แพทย์ประจำ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ได้นำเสนอเรื่อง การจัดระบบการส่งต่อทารกแรกเกิดที่มีอาการวิกฤต ในเขตสุขภาพที่ 1 ว่า ภาคเหนือตอนบนซึ่งมี 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน มี รพ. ในเขต 100 แห่ง รพ.สต. 1,096 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชน 17 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขชุมชนที่ตั้งบนพื้นที่ป่าเขาห่างไกล 129 แห่ง ได้วางระบบการดูแลทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤตที่มีอาการซับซ้อน เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กทารกแรกเกิดอันดับ 1 เพื่อการส่งต่อ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมี รพ.นครพิงค์ เป็นแม่ข่าย และ รพ.แม่และเด็ก จ.เชียงใหม่ มาร่วมให้บริการกรณีที่มีอาการไม่หนักมาก และสร้างมาตรฐานการดูแลระหว่างนำส่งรักษาต่อในพื้นที่ป่าเขา ใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยมีศูนย์กลางประสานส่งต่อโรงพยาบาลในเขตบริการ และเพิ่มเตียงไอซียูเด็กในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ อีก 40 เตียง เพิ่มความคล่องตัวตั้งแต่ต้นทางไปยัง รพ. ที่จะรับผู้ป่วย โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา

“ผลสำเร็จของการปฏิรูปเขตสุขภาพ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลชุมชนในการดูแลเด็ก เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีความผิดปกติระบบการหายใจได้ปีละ 500 กว่าราย ลดการเสียชีวิตจากอัตรา 4.7 ต่อ 1,000 คน เหลือ 4.0 ต่อ 1,000 คน ในปี 2557 ไม่ต้องส่งไปรักษาที่จังหวัดหรือเขตสุขภาพอื่น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลของผู้ปกครองเด็กได้” พญ.ปัฐมาลักษณ์ กล่าว 
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น