ปลัด สธ. จ่อชง 4 ประเด็นใหญ่ต่อ “รมว.- รมช.สธ.” เดินหน้าต่อ ทั้งระบบธรรมาภิบาล ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ เขตสุขภาพ และกลไกการเงินการคลัง เสนอดึงงบเหมาจ่ายรายหัว 4 หมวดบัตรทองกระจายลงพื้นที่ ตั้งแต่ระดับอำเภอถึงเขต ให้บริหารจัดการภายใน แก้ปัญหาสุขภาพพื้นที่ตรงจุด
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสาธารณสุขครั้งที่ 22 ประจำปี 2557 หัวข้อ “สร้างสรรค์วิชาการ เพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข” ว่า เนื่องจาก ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรี สธ. ยังไม่ได้เข้ากระทรวง และยังไม่ได้รับนโยบาย จึงไม่สามารถมาร่วมงานได้ ซึ่งจริงๆ มีการเตรียมตัวก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้ง รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข จะเข้ามาแถลงนโยบายในวันที่ 13 ก.ย. นี้ ซึ่ง สธ. ได้เตรียมนโยบายเพื่อเสนอแล้ว 16 เรื่อง โดยเรื่องหลักๆ และสำคัญมี 4 เรื่อง คือ 1. การสร้างธรรมาภิบาลใน สธ. โดยจะทำให้โปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังทบทวนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และเกณฑ์จริยธรรม รวมทั้งทำให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างเปิดเผย และเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส โดยจะวางระบบให้เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ เครือข่ายพยาบาล และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมเป็นกลไกในการตรวจสอบ
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า 2. เรื่องขวัญกำลังใจ แบ่งเป็นส่วนของการบรรจุอัตรากำลังประเภทต่างๆ จะต้องมีการทำกรอบอัตรากำลัง เพราะที่ผ่านมา สธ. โดนมองว่าไม่มีการทำกรอบอัตรากำลังที่ดี มีการขอตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการทำกรอบอัตรากำลังจะต้องสอดคล้องกับปริมาณงาน และประชากร เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารบุคคล ส่วนเรื่องค่าตอบแทน จะลดความเหลื่อมล้ำทั้งระหว่างวิชาชีพจำนวนกว่า 20 วิชาชีพ และภายในวิชาชีพ รวมถึงจะมีการพิจารณาการเดินหน้าต่ออย่างไรทั้งส่วนของค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3. การปฏิรูปเขตสุขภาพ (Service Plan) เพื่อบริหารจัดการทรัพยากร และการให้บริการภายในเขตร่วมกัน เรื่องนี้ตรงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องการเดินหน้าเรื่องเขตสุขภาพภาคประชาชน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เห็นตรงกันว่า เขตสุขภาพภาคประชาชนเป็นทางออกของปัญหาในระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ ในอนาคต สธ. จะเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายสุขภาพระดับชาติ ส่วนการให้บริการจะกระจายอำนาจไปที่เขตสุขภาพ ซึ่งทำงานผ่านคณะกรรมการ ซึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดยองค์ประกอบจะต้องมีสัดส่วนทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และประชาชน
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า และ 4. ระบบการเงินการคลัง ซึ่งงบประมาณด้านสาธารณสุขภาพรวมมีกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น สธ. 1 แสนล้านบาท และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1 แสนล้านบาท ซึ่งในอนาคตอยากเห็นการบริหารจัดการงบประมาณ โดยเขตสุขภาพ เพื่อให้งบประมาณสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ ซึ่ง สธ. มีข้อเสนอต่อบอร์ด สปสช. ให้งบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ได้รับประมาณ 8 หมื่นล้านบาทนั้น อยากให้กระจายงบประมาณ 4 หมวด คือ งบส่งเสริมป้องกันโรคให้กับระดับอำเภอ บริหารจัดการทั้งหมด ซึ่งเป็นการบริหารที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ งบผู้ป่วยนอก อยู่ที่ระดับจังหวัด งบผู้ป่วยในและงบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ไว้ที่เขตสุขภาพ
“ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสหารือกับ ศ.นพ.รัชตะ ในหลักการของเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่ง สธ. ได้จัดทำข้อเสนอเหล่านี้ให้ ศ.นพ.รัชตะ ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะเดินหน้าเรื่องเขตสุขภาพต่อไป นอกจากนี้ จะผลักดันการบริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการใกล้บ้าน และรับบริการดีที่สุด ที่สำคัญกลไกการเงินการคลังอย่างเดียวไม่สามารถพัฒนาระบบได้ แต่ต้องควบคู่กับการจัดบริการที่ดี และข้อมูลสุขภาพด้วย จึงหวังว่าจะเดินหน้าทำงานร่วมกันกับคณะผู้บริหารชุดใหม่ ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและผู้ปฏิบัติงานมีความสุข” ปลัด สธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการมอบรางวัลชัยนาทนเรนทรให้แก่บุคลากรสาธารณสุขที่มีผลงานดีเด่น จำนวน 5 ราย และผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2556 จำนวน 10 รางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทผลงานยอดเยี่ยม 2 รางวัล ประเภทผลงานดีเด่น 4 รางวัล และประเภทชมเชย 4 รางวัล จากผลงานทางวิชาการที่เข้าร่วมประกวดทั้งหมด 1,009 เรื่อง
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่