xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำท่วม” ทำ ปชช.เครียด สธ.สั่ง 16 รพ.รับมือ ดูแลสุขภาพจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. สั่ง รพ. 16 แห่งรับมือน้ำท่วม จี้ดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัย หลังพบเครียดสูง แนะ ปชช. วางแผนรับมือน้ำท่วม คำนึงถึงชีวิตก่อนทรัพย์สิน พักผ่อนให้เพียงพอ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 4 จังหวัด คือ ตราด ปราจีนบุรี ชัยภูมิ และนครราชสีมา จำนวนโรงพยาบาล 16 แห่ง เตรียมพร้อมการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสีย สำรองยา เวชภัณฑ์ และออกซิเจน แผนการอพยพผู้ป่วย และปรับแผนการจัดบริการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยได้ตลอดเวลา รวมถึงให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดูแลร่างกายและจิตใจผู้ประสบภัยด้วย โดยเฉพาะจิตใจ ซึ่งอาจมีความเครียดสูงจากบ้านเรือน ทรัพย์สิน ที่ทำกินถูกน้ำท่วมเสียหาย ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ และการใช้ชีวิตประจำวันที่ยากลำบากขึ้น โดยให้แนะนำในการผ่อนคลายความเครียดแก่ผู้ประสบภัย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสมจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ใน 11 จังหวัดที่ประสบภัย จำนวน 37 ครั้ง มีผู้รับบริการทั้งหมด 3,988 ราย ส่วนใหญ่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รองลงมาคือ ผิวหนังมีผื่นคัน น้ำกัดเท้า ประเมินสุขภาพจิตทั้งหมด 234 ราย พบเครียดในระดับสูง 26 ราย ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 15 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และอสม.อย่างใกล้ชิด

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว ติดตามประกาศเตือนภัย กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้ายสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม เมื่อเกิดน้ำท่วมขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน และทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้ ทั้งนี้ หากเกิดความเครียดในช่วงน้ำท่วม จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง มีอาการปรากฏหลายอย่างเช่นเมื่อยล้า ปวดศีรษะ ใจสั่น นอนไม่หลับหรือง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเช่นวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า เงียบขรึม เก็บตัว เป็นต้น

“ในการดูแลสุขภาพจิตในช่วงน้ำท่วมและป้องกันความเครียด ขอให้ทำใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาทีละขั้นตอนตามความจำเป็น รวมทั้งมีการผ่อนคลายความเครียด รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการนอนในตอนกลางวัน พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน เพื่อปรับทุกข์ จะช่วยระบายความเครียดได้ หากไม่ดีขึ้นเช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือโทร.สายด่วน 1323 และหมายเลขอัตโนมัติ 1667 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น