xs
xsm
sm
md
lg

ผลตรวจเลือดหญิงกินี สุดท้ายแค่ “มาลาเรีย” ไม่ใช่ “อีโบลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทย์เผยผลตรวจเลือดหญิงกินี วัย 24 ปี พบเป็นเชื้อมาลาเรีย ระบุหากพบผู้เข้าเกณฑ์อีโบลาอีก จะตรวจสอบเชื้อโรคเขตร้อน 8 ชนิดในคราวเดียว ได้ข้อสรุปครั้งเดียวใช่หรือไม่ใช่ หรือป่วยด้วยโรคใด
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (แฟ้มภาพ)
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นอกจากตรวจหาเชื้ออีโบลาแล้ว กรมฯ ยังตรวจหาเชื้อเพื่อเปรียบเทียบเชื้อของโรคในเขตร้อน 8 ชนิดด้วย ซึ่งขณะนี้ยืนยันได้แล้วว่า หญิงรายดังกล่าวป่วยด้วยเชื้อมาลาเรีย ทั้งนี้ การตรวจยืนยันเชื้ออีโบลา ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ จะเริ่มตรวจพบเชื้อเมื่อมีไข้ในวันที่ 3 และพบเชื้อได้แน่นอนเมื่อมีไข้วันที่ 5 ดังนั้น หญิงรายดังกล่าวจึงต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีก กรมฯ ได้วางแผนการตรวจให้เร็วขึ้นและตรวจเชื้อให้ได้ข้อสรุปในครั้งเดียวว่า เจ็บป่วยด้วยเชื้ออะไร เพื่อให้สังคมคลายความสงสัยและมั่นใจ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อธิบายถึงโรคไข้มาลาเรียว่า มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคนมี 4 ชนิด คือ ฟัลซิปารัม ไวแวกซ์ มาลาเรียอี และ โอวาเล เชื้อมาลาเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ ชนิดฟัลซิปารัม และ ไวแวกซ์ฟัลซิปารัม จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนชนิดไวแวกซ์ และ โอวาเล สามารถซ่อนอยู่ในตับได้นาน และออกสู่กระแสเลือดได้ในภายหลัง ทำให้กลับเป็นโรคซ้ำได้อีก

แหล่งระบาดของมาลาเรียอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร

การติดต่อสู่คนโดยการถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ทั้งนี้ หลังจากได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ ลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่า ไข้จับสั่น คือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก จะพบได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

การรักษา มาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ การซื้อยารักษาด้วยตนเอง หรือกินยาไม่ครบ อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา หรือทำให้เป็นโรครุนแรงขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนการป้องกัน เมื่อจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรีย ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ดังนี้ 1. สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ 2. ทายากันยุง 3. นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน) และ 4. ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ควรพ่นยากันยุงก่อน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น