xs
xsm
sm
md
lg

พบรายแรก! “หญิงกินี” มาหาผัว เกิดมีไข้เข้าข่ายสอบสวนโรค “อีโบลา” สธ.เร่งตรวจเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบแล้วรายแรก “ต้องสอบสวนโรคอีโบลา” สธ. เผยเป็นหญิงชาวกินี วัย 24 ปี เข้ามาตามหาสามีในไทยตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. ผ่านด่านควบคุมโรคโดยไม่มีไข้ แต่มามีไข้ภายหลัง นำตัวเข้าห้องแยกโรคแล้ว ส่งเลือดตรวจเชื้อกรมวิทย์ และ จุฬาฯ คาดรู้ผล 3 ก.ย. พร้อมติดตามผู้สัมผัสอีก 16 คนอย่างใกล้ชิด



วันนี้ (2 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าระบบเฝ้าระวังอีโบลาในประเทศไทย ว่า จากมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลาขณะนี้พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 1 ราย นับเป็นรายแรกของประเทศ โดยเป็นหญิงชาวกินี อายุ 24 ปี เดินทางมาจากประเทศกินี ที่มีการระบาดเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ผ่านด่านควบคุมโรคโดยไม่พบว่ามีไข้ แต่เริ่มมีอาการไข้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. จึงไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยพบว่า มีอาการไข้ 38.8 องศาเซลเซียส เจ็บคอ มีน้ำมูก และอาเจียน จึงรับตัวไว้ดูแลรักษาในห้องแยกโรคที่มีการควบคุมความดัน (Negative Pressue) ตามระบบเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมเจาะเลือดส่งตรวจหาเชื้ออีโบลาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่า จะทราบผลเบื้องต้นในวันที่ 2 ก.ย. โดยจะวางแผนเจาะเลือดตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 ก.ย. เพื่อความมั่นใจ

ขณะนี้หญิงรายดังกล่าวมีอาการไข้ลดลงแล้ว ส่วนการดูแลผู้ป่วยในห้องแยกโรคตามมาตรฐานนั้น เจ้าหน้าที่มีการใส่ชุดกาวน์กันน้ำ หรือชุดอวกาศในการป้องกันตนเอง ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจในการดูแล ขอยืนยันว่า ขณะนี้หญิงรายดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย แต่ถือว่าเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค ส่วนผู้สัมผัสกับหญิงรายดังกล่าวพบว่า มีทั้งหมด 16 คน โดยจะมีการติดตามดูแลแยกตัวควบคุมโรคตามมาตรฐาน” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคประจำจังหวัดได้สอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่า หญิงรายดังกล่าวเดินทางเข้ามาหาสามีในไทยและทำธุรกิจ ยังไม่มีประวัติสัมผัส อย่างไรก็ตาม คร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SART) จากส่วนกลางลงไปในพื้นที่แล้ว คาดว่าจะได้ข้อมูลสอบสวนโรคที่มากยิ่งขึ้น ส่วนการติดตามผู้สัมผัสหญิงรายดังกล่าวจำนวน 16 คน ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาตินั้น จะมีการสอบสวน สัมภาษณ์ว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดกับหญิงรายดังกล่าวมากขนาดไหน หากมีความเสี่ยงสูงก็จะรับไว้ในห้องแยกโรคของโรงพยาบาลเพื่อติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะพ้น 21 วันตามระยะการฟักตัวของโรค หรือจนกว่าผลการตรวจเลือดของหญิงรายดังกล่าวจะชัดเจนว่าไม่ได้ติดเชื้ออีโบลา ส่วนสามีของหญิงรายดังกล่าวพบว่าเดินทางออกไปต่างประเทศตั้งแต่เมื่อ 5 เดือนก่อนแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า อาการของผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรคอีโบลามีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ต้องสอบสวนโรค โดยพบว่าเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด และมีไข้ 2. กลุ่มสงสัยว่าติดเชื้อ คือ มีอาการชัดเจนกว่ากลุ่มแรก คือ มีเลือดออก 3. อาการน่าจะเป็น คือ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ แต่ยังไม่มีผลตรวจยืนยัน และ 4. มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการชัดเจน หญิงรายดังกล่าวจึงเข้าข่ายกรณีแรก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าหญิงรายดังกล่าวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดใด เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการรบกวนผู้ป่วย และเกิดความตื่นตระหนกในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเจอผู้หญิงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ หลังจากเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ถือว่ามาตรการเฝ้าระวังหละหลวมหรือไม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าสามารถพบเจอผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว การเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในการเฝ้าระวังจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ที่ท่าอากาศยานหากพบว่ามีไข้จะนำตัวเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลทันที ถ้าไม่มีไข้จะมีการติดตาม สอบถามอาการทุกวันจนครบ 21 วัน 2.การเฝ้าระวังที่ชุมชน และ3.เฝ้าระวังที่โรงพยาบาล แต่ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคชาวกินีรายนี้ ไม่สามารสื่อสารภาษาอังกฤษได้ พูดได้เฉพาะภาษาฝรั่งเศส การสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จึงเป็นไปได้ลำบาก จนเมื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจึงได้มีการจัดหาล่ามภาษาฝรั่งเศสมาช่วยสื่อสาร

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการร์โรคอีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยทั่วโลกสะสม 3,069 ราย เสียชีวิต 1,552 ราย อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 51%

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น