xs
xsm
sm
md
lg

หญิงกินีปลอด”อีโบลา” ตามติดอีก16คนใกล้ชิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - พบแล้วรายแรก "ต้องสอบสวนโรคอีโบลา" สธ.เผยเป็นหญิงชาวกินี วัย 24 ปี ส่งเลือดตรวจเชื้อกรมวิทย์ และจุฬาฯ พร้อมติดตามผู้สัมผัสอีก 16 คนอย่างใกล้ชิด สธ.เผยผลตรวจเชื้อ "อีโบลา" หญิงชาวกินี ให้ผลเป็นลบ ด้านเจ้าหน้าที่ รพ.ไลบีเรีย “หยุดงานประท้วง” จี้รัฐขึ้นเงินเดือน-จัดหาเครื่องป้องกันบุคลากรการแพทย์จากเชื้อ “อีโบลา”

วานนี้ (2 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าระบบเฝ้าระวังอีโบลาในประเทศไทย ว่า จากมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลาขณะนี้พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 1 ราย นับเป็นรายแรกของประเทศ โดยเป็นหญิงชาวกินี อายุ 24 ปี เดินทางมาจากประเทศกินีที่มีการระบาดเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ผ่านด่านควบคุมโรคโดยไม่พบว่ามีไข้ แต่เริ่มมีอาการไข้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. จึงไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยพบว่า มีอาการไข้ 38.8 องศาเซลเซียส เจ็บคอ มีน้ำมูก และอาเจียน จึงรับตัวไว้ดูแลรักษาในห้องแยกโรคที่มีการควบคุมความดัน (Negative Pressue) ตามระบบเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมเจาะเลือดส่งตรวจหาเชื้ออีโบลาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นในวันที่ 2 ก.ย. โดยจะวางแผนเจาะเลือดตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 ก.ย.เพื่อความมั่นใจ

"ขณะนี้หญิงรายดังกล่าวมีอาการไข้ลดลงแล้ว ขอยืนยันว่าขณะนี้หญิงรายดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย แต่ถือว่าเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค ส่วนผู้สัมผัสกับหญิงรายดังกล่าวพบว่า มีทั้งหมด 16 คน โดยจะมีการติดตามดูแลแยกตัวควบคุมโรคตามมาตรฐาน" ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคประจำจังหวัดได้สอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่า หญิงรายดังกล่าวเดินทางเข้ามาหาสามีในไทยและทำธุรกิจ ยังไม่มีประวัติสัมผัส อย่างไรก็ตาม คร.ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SART) จากส่วนกลางลงไปในพื้นที่แล้ว คาดว่าจะได้ข้อมูลสอบสวนโรคที่มากยิ่งขึ้น ส่วนการติดตามผู้สัมผัสหญิงรายดังกล่าวจำนวน 16 คน หากมีความเสี่ยงสูงก็จะรับไว้ในห้องแยกโรคของโรงพยาบาลเพื่อติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะพ้น 21 วันตามระยะการฟักตัวของโรค ส่วนสามีของหญิงรายดังกล่าวพบว่าเดินทางออกไปต่างประเทศตั้งแต่เมื่อ 5 เดือนก่อนแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า อาการของผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรคอีโบลามีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต้องสอบสวนโรค โดยพบว่าเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด และมีไข้ 2.กลุ่มสงสัยว่าติดเชื้อ คือมีอาการชัดเจนกว่ากลุ่มแรก คือ มีเลือดออก 3.อาการน่าจะเป็นคือ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่แต่ยังไม่มีผลตรวจยืนยัน และ 4.มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการชัดเจน หญิงรายดังกล่าวจึงเข้าข่ายกรณีแรก ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าหญิงรายดังกล่าวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดใด เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความตื่นตระหนกในพื้นที่

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคอีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยทั่วโลกสะสม 3,069 ราย เสียชีวิต 1,552 ราย อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 51%

***ผลตรวจหญิงชาวกินี ไม่พบเชื้อ "อีโบลา"

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการตรวจเลือดหญิงชาวกินี วัย 24 ปี ซึ่งเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคติดเชื้ออีโบลา โดยมีการส่งตรวจเลือดที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย และห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก สัตว์สู่คน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ผลการตรวจเบื้องต้นทั้ง 2 แห่ง ให้ผลเป็นลบ คือไม่พบการติดเชื้ออีโบลา โดยจะตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งในวันที่ 4 ก.ย. ซึ่งจะทราบผลชัดเจนในสัปดาห์นี้

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ตรวจวิเคราะห์ชีวโมเลกุล หรือ ระบบพีซีอาร์ (PCR: Polymerase Chain Reaction) โดยผลการตรวจครั้งแรกด้วยชุดตรวจจากประเทศจีน ให้ผลเป็นลบ ส่วนผลตรวจครั้งที่สอง ด้วยชุดตรวจจากประเทศเยอรมัน ให้ผลเป็นลบ เช่นกัน หมายถึงไม่พบเชื้ออีโบลา ซึ่งในการตรวจครั้งต่อไปจะมีการเพิ่มเครื่องตรวจเชื้อ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วของการรายงานผลด้วย

***เจ้าหน้าที่ รพ.ไลบีเรีย “หยุดงานประท้วง”

เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดในไลบีเรียนัดหยุดงานประท้วงเมื่อวันที่ 1 ก.ย. เพื่อเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน และให้ทางโรงพยาบาลจัดหาเครื่องป้องกันที่มีประสิทธิภาพแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้ออีโบลา ซึ่งขณะนี้คร่าชีวิตประชากรไลบีเรียไปแล้วหลายร้อยคน

จอห์น ทุกเบห์ โฆษกของกลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จอห์น เอฟ เคนเนดี ในกรุงมันโรเวีย ระบุว่า พยาบาลทุกคนจะไม่กลับมาทำงานจนกว่าพวกเขาจะได้รับ “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล” (personal protective equipment) ซึ่งหมายถึงชุดป้องกันที่ช่วยให้ผู้สวมใส่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรคร้าย

“ตั้งแต่ไวรัสอีโบลาเริ่มแพร่ระบาด พวกเราไม่เคยได้รับอุปกรณ์ป้องกันตนเองเลย ซึ่งทำให้แพทย์หลายคนต้องพลอยได้รับเชื้อไปด้วย พวกเราจึงตัดสินใจที่จะอยู่บ้านจนกว่าจะได้รับอุปกรณ์ป้องกัน” ทุกเบห์กล่าว

ไวรัสอีโบลาซึ่งสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วย ได้คร่าชีวิตพลเมืองใน 4 ประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกไปแล้วกว่า 1,500 คนตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ซึ่งเกือบ 700 คนเป็นชาวไลบีเรีย

ผู้เสียชีวิตราว 1 ใน 10 เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งดูแลรักษาผู้ป่วยจนตนเองได้รับเชื้อ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า การแพร่ระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของอีโบลาอาจทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 20,000 คนจึงจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

*** บุคลากรแพทย์ติดเชื้อ 120 คน

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ไนจีเรียยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลารายใหม่ เป็นแพทย์หญิงที่สามีซึ่งเป็นแพทย์เช่นกันเสียชีวิตไปแล้วจากการรักษาผู้ติดเชื้อจากชายไลบีเรีย ที่นำเชื้อเข้ามาแพร่ในไนจีเรียเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม จนถึงขณะนี้ไนจีเรียมีผู้เสียชีวิตจากอีโบลาแล้ว 6 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ 2 คน พยาบาล 2 คน และยังมีแพทย์ 1 คน กับเภสัชกร 1 คน ถูกกักตัวรอผลตรวจอยู่
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนของบุคลากรทางสาธารณสุข ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่คาดไม่ถึงได้ โดยขณะนี้มีบุคลากรทางสาธารณสุขมากกว่า 120 คน ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา และมีผู้ติดเชื้อ 240 คน

**นักวิจัยญี่ปุ่นคิดวิธีตรวจหา “เชื้ออีโบลา” ใน 30 นาที

อาจารย์ จิโร ยาสุดะ และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนางาซากิ เปิดเผยว่า กระบวนการตรวจหาเชื้อที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมีต้นทุนถูกกว่าระบบที่กันใช้อยู่ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เชื้ออีโบลากำลังแพร่ระบาดหนักและคร่าชีวิตประชากรไปแล้วกว่า 1,500 คน

ทีมนักวิจัยของยาสุดะได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “ไพรเมอร์” (primer) ซึ่งจะเพิ่มปริมาณเฉพาะยีนของไวรัสอีโบลาซึ่งพบในตัวอย่างเลือด หรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วยเท่านั้น

ผู้วิจัยใช้เทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบันสกัดเอากรดไรโบนิวคลีอิก (อาร์เอ็นเอ) ซึ่งเป็นโมเลกุลทางชีววิทยาที่ใช้ในการกำหนดรหัสพันธุกรรมออกมาจากไวรัสทุกชนิดที่พบในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย จากนั้นจึงนำไปสังเคราะห์กับดีเอ็นเอของไวรัส ผสมกับไพรเมอร์ และนำไปเพิ่มอุณหภูมิจนถึง 60-65 องศาเซลเซียส

หากมีเชื้อไวรัสอีโบลาอยู่ ดีเอ็นเอของไวรัสชนิดนี้จะเพิ่มปริมาณขึ้นภายใน 30 นาทีเนื่องจากการทำปฏิกิริยากับไพรเมอร์ ผลพลอยได้จากกระบวนการนี้จะทำให้ของเหลวมีสีขุ่นซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น