ก.แรงงาน ร่วมสภาอุตสาหกรรมจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน กำหนดกรอบ เพิ่มขีดความสามารถแรงงาน เร่งผลักดันสู่สถานศึกษากำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ผลิต นศ. ตรงตามตลาดแรงงาน
วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการไบแทค บางนา มล.ปรุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ด้านแรงงานเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่า การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ยั่งยืนและเป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขันทางการค้าด้วย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ในกลุ่มแรกๆ ที่ต้องดำเนินการ เพื่อรองรับการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งการที่สภาอุตสาหกรรมและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกันจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานขึ้น ถือว่าเป็นการกำหนดกรอบ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะที่ตรงกับตำแหน่งงานจริง สถานประกอบการต่างๆ สามารถนำมาตรฐานฝีมือแรงงานนี้ไปใช้ได้ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องช่วยกันผลักดันให้สถานศึกษานำมาตรฐานนี้ไปกำหนดเป็นหลักสูตรการเรียน การสอน ผลิตนักศึกษาที่จบออกมาตรงตามตลาดแรงงาน สามารถประกอบกิจการในสถานประกอบการได้
รองปลัด รง. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสามารถกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้แล้วจำนวน 66 สาขาอาชีพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 44 สาขาอาชีพ โดยมาตรฐานดังกล่าวได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมในการจัดทำคุณสมบัติที่เจาะลึก เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน และแรงงานจะมีศักยภาพที่หลากหลาย สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนี้ จะเป็นการเดินหน้าในการเตรียมความพร้อมกำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งคัดเลือกสาขาอาชีพที่มีความโดดเด่น และเป็นจุดแข็งของประเทศไทยเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แล้วนำมาตรฐานที่ดีที่สุดมาเป็นกรอบในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มเติ่มส่วนที่ยังเป็นจุดบกพร่องนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานที่เป็นสากล เชื่อว่า การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงานจะเป็นส่วนที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานแล้วจะมีการพัฒนาแรงงานสู่กระบวนการทดสอบฝีมือต่อไป
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่