xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเปิดรับสาขาอื่นเป็นครูสังกัด สอศ.กว่า 500 อัตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สอศ. พร้อมเปิดรับสาขาอื่นเป็นครู เม.ย. นี้ กว่า 500 อัตรา ชี้แนวทางให้ครูอาชีวะได้ใบอนุญาต 90 วัน เพื่อมาสอบครูผู้ช่วยแก่ปัญหาขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง พร้อมวอนคุรุสภาอำนวยความสะดวกให้ยื่นขอใบอนุญาตที่คุรุสภาจังหวัด
นายชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์
วันนี้ (18 ส.ค) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คุรุสภาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูและมีมติเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนครูของ สอศ. โดยเฉพาะในสาขาขาดแคลน ที่เปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนในคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สามารถมาสอบเป็นครูผู้ช่วยได้นั้น ตนคิดว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นคุรุสภาจะออกใบอนุญาตปฏิบัติการสอน 90 วันให้กับผู้ที่สนใจมาสมัครเป็นครูผู้ช่วยสังกัด สอศ. ซึ่งวิธีที่สามารถทำได้รวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งใช้เวลานาน แต่อยากขอให้คุรุสภาอำนวยความสะดวก เปิดกว้างให้ผู้สนใจสมัครครูผู้ช่วย กรณีดังกล่าวสามารถขอใบใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราวได้ที่คุรุสภาจังหวัด โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ส่วนกลางเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อได้ครูกลุ่มนี้เข้ามาสอนในสาขาที่ขาดแคลนแล้ว ทางคุรุสภาจะออกใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว ให้เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งระหว่างนี้ สอศ. จะร่วมมือกับคุรุสภา พัฒนาครูกลุ่มดังกล่าว ให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตัวจริงโดยเร็วจะไม่รอให้ถึง 6 ปี เพราะเป็นเวลาที่นานเกินไป ทำให้ครูเหล่านี้หนีออกจากระบบได้ และคาดว่าจะสามารถเปิดรับสมัครคัดเลือกครูกลุ่มดังกล่าวได้ภายในเดือน เมษายน 2558 ประมาณ 500 อัตรา เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาครูในสาขาขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง

“แนวทางดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาครูสาขาขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นการเปิดช่องให้คนที่จบสาขาขาดแคลนมาสมัครเป็นครูได้ แต่ก็ยังมีความกังวลใจ เพราะล่าสุด สอศ. เปิดรับสมัครครูในสาขาพืชไร่ และสาขาเคมีสิ่งทอ แต่ก็พบว่าไม่มีผู้สมัครเช่นเดิม ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะผู้ที่เรียนในสาขาดังกล่าวไม่มาสมัครเอง หรือเป็นเพราะสถาบันฝ่ายผลิตอย่างครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่เปิดสอนในสาขาดังกล่าว คงต้องไปดูในรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ส่วนกรณีที่จะให้ สอศ. เปิดสอนสาขาขาดแคลนเองนั้น อาจจะติดปัญหาในข้อกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งสถาบันฝ่ายผลิตอย่างกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสำนักงานคณะกรรการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อช่วยผลิตครูในกลุ่มดังกล่าวต่อไป”นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น