xs
xsm
sm
md
lg

รอฝ่ายสังคมฯ เลือกใช้อะไรแทนแท็บเล็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ. เสนอใช้เทคโนโลยีการสอนแทนแท็บเล็ตหลายรูปแบบ “กมล” ระบุไม่ได้เจาะจงต้องเป็นสมาร์ทคลาสรูม คาดฝ่ายสังคมฯ กำลังหารูปแบบที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำข้อมูลห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทคลาสรูม (Smart Classroom) เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังอยู่ในระหว่างการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีเพิ่มเติมว่ามีอะไรบ้าง เพราะ คสช. ต้องการให้เสนอข้อมูลอย่างละเอียดและรอบด้าน ซึ่ง สพฐ. ได้สอบถามความเห็นไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว) ประสานมิตร สักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร (ICT) ก็พบว่ารูปแบบการใช้เทคโนโลยีมีหลากหลายเกิน 10 รูปแบบ ดังนั้น สพฐ. จะเสนอ คสช. ไปในหลายรูปแบบที่ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นห้องเรียนในรูปแบบสมาร์ทคลาสรูม

“ผมเข้าใจว่า ขณะนี้ คสช. โดยฝ่ายสังคมจิตวิทยา กำลังเชิญหน่วยงานดังกล่าวไปสอบถามรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำไปวิเคราะห์ว่าควรจะเลือกรูปแบบใดถึงจะคุ้มค่าที่สุด” นายกมล กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คสช. ได้มีมติห้ยุติโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ทั้งในส่วนของการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ที่ยังค้างอยู่ เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสม โดยให้นำงบทั้ง 2 ส่วน รวมแล้วเกือบ 7,000 ล้านบาท มาดำเนินโครงการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแทน เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอให้ คสช. พิจารณา 3 รูปแบบ ได้แก่ สมาร์ทคลาสรูม ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ และห้องเรียนอีเลิร์นนิ่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของห้องสมาร์ทคลาสรูมนั้น สพฐ. เคยนำเสนอข้อมูลว่า ห้องสมาร์ทคลาสรูม จะแบ่งเป็น 3 ขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน ดังนี้ โรงเรียนขนาดเล็ก จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา ประมาณ 20 เครื่อง ใช้งบประมาณห้องละ 300,000 บาท โรงเรียนขนาดกลาง จำนวน 40 เครื่อง ใช้งบประมาณ 400,000 บาท และโรงเรียนขนาดใหญ่ จำนวน 50 เครื่อง ใช้งบประมาณ 600,000 บาท
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น