xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีฮีโร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

พระเอกชี่ม้าขาว หรือ ฮีโร่ เป็นความคาดหวังของสังคม เราตกอยู่ในการสั่งสอนทางประวัติศาสตร์ถึงวีรบุรุษ วีรสตรี ของชาติ หรือของโลก ที่เป็นผู้นำ ผู้กอบกู้ ซึ่งนั่นอาจเป็นไปได้ในบริบทแบบสังคมไม่ไม่ซับซ้อน หรือในยุคแห่งการทหารการสงคราม แต่วันนี้ทฤษฎีฮีโร่ยังจะมีจริงได้ไหม
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ฮีโร่ในวันนี้ยังมีได้จริง แต่ในบริบทเล็กๆ เช่น การที่คนๆ หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งมีความกล้าหาญยอมเสี่ยงตายเข้าไปช่วยชีวิตผู้คนที่ตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉินต่างๆ อันนี้สามารถเป็นฮีโร่ชั่วข้ามคืนที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ฮีโร่ที่จะเข้าในการแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะระบบของบ้านเมืองนั้นซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันจนเป็นร่างแห นอกจากสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์แล้ว สรรพสิ่งยังเป็นพลวัตด้วย คือไม่หยุดนิ่ง การจะแก้ปัญหาใดๆ อันมากมาย และเชื่อมถึงพัลวันกันจึงไม่สามารถทีใครคนใดคนหนึ่งจะเข้าใจได้หมดและกุมสภาพได้ ฮีโร่แบบข้ามาคนเดียว ข้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ผมขอตัดสินใจและขอรับผิดชอบเองในทุกเรื่อง แบบนี้มีโอกาสและแนวโน้มนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่หายนะมากกว่าที่จะรุ่งเรือง เพราะโอกาสของการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือไม่รอบคอบนั้นมีมากกว่ามาก

ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น กรณีที่คนแดนไกลตัดสินใจยืนยันจะดึงดันผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมื่อปีที่แล้ว จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง ทั้งนี้ เพราะความเกี่ยวโยงของสรรพสิ่งนั้นพัลวันจนไม่อาจกำหนดควบคุมได้ด้วยคนๆ เดียว หรือคนกลุ่มเดียว ปัญหาชาติบ้านเมือง ปัญหาความทุกข์ยากไม่เป็นธรรมของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น การเอาคนออกจากป่า การจะสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์ หรือการจะปฏิรูประบบสุขภาพแบบกระทรวงสาธารณสุข นำการบูรณาการเป็นเขตสุขภาพ ทุกเรื่องมีคนหนุนคนค้านด้วยตรรกะเหตุผลที่ต่างกัน เหตุผลเหล่านั้นถูกต้องในมุมนั้นๆ แต่ผิดหรือใช้ไม่ได้ในอีกมุมหนึ่ง เช่นนี้แล้วฮีโร่จะตัดสินใจอย่างไร ใช้อะไรเป็นฐานคิดในการตัดสินใจ

ดังนั้น อนาคตของการสร้างชาติต้องไปให้พ้นจากทฤษฎีฮีโร่ ต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ ขึ้นมามีส่วนร่วมให้มาก ร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินใจ แม้ว่าวันนี้ภาคประชาชนยังไม่เข้มแข็ง แต่ก็เป็นเพราะผลพวงของสิ่งที่เป็นมาในอดีต ที่ระบบราชการไม่ใส่ใจการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงรูปแบบเป็นเพียงพระอันดับที่นั่งให้ครบองค์และให้ความเห็นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

แต่การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมจริงจนมีพลังอำนาจในการปกป้องระบบนั้นมีอยู่จริง ตัวอย่างเช่นกรณีของ สปสช. ที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ได้ออกแบบให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และผู้บริหาร สปสช. คนแรก คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ก็ได้การออกแบบการทำงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการติว การให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย การให้ร่วมประชุมหรือเข้าเวทีสัมมนาอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถยกระดับการมีส่วนร่วมได้ จากภาคประชาชนที่เป็นผู้ตามที่ต้องฟังตามให้ทันในการประชุม มาเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่สามารถถกแถลงกับระดับซี 11 ด้วยเหตุและผลได้อย่างเท่าทัน นี่คือตัวอย่างที่หากกระทรวงสาธารณสุขหรือทุกกระทรวงต้องการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมจริง ต้องจัดการะบวนการที่ต่อเนื่องสำหรับกลุ่มคนที่มีจิตสาธารณะเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ร่วมปกป้องระบบ ปกป้องความเป็นธรรมต่อประชาชน

ทฤษฎีฮีโร่เป็นทฤษฎีเก่า เหมาะกับยุคโบราณที่ทำศึกด้วยหอกดาบ ต้องมีแม่ทัพนายกองนำทัพออกรบ ซึ่งไม่มีความซับซ้อนอะไรมากเฉกเช่นในปัจจุบัน ฮีโร่ในวันนี้จึงทำอะไรไม่ออก คนขัดขามากมาย ทำอะไรก็ผิดพลาดมีช่องโหว่ เพราะมี 24 ชั่วโมงและสองมือสองตาเหมือนทุกคน ไม่มีทางที่จะเข้าใจและตัดสินทุกอย่างได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง เผลอๆ ถูกลูกน้องวางยาโดยไม่รู้ตัว หรือถูกคนรอบตัวเชลียร์หรือยกยอปอปั้นจนเสียคนอีกต่างหาก

ฮีโร่วันนี้จึงไม่ควรเป็นผู้นำที่นำโด่งอยู่แถวหน้าสุดอีกต่อไป แต่คือผู้ที่อยู่แถวหลัง คอยหนุนประคับประคองให้คนในระบบทำงานอย่างแข็งขัน เปิดช่องและพื้นที่การมีส่วนร่วม ให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการสร้างชาติและบ้านเมือง

ฮีโร่ในวันนี้มีแต่ในโรงภาพยนตร์ ในโลกแห่งความเป็นจริง ฮีโร่ที่เอาแต่เดินนำหน้าจะกลายเป็นฮีร่วงอย่างแน่นอน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น