คัด 20 ทีมพัฒนาแอปฯสุขภาพ หวังเปลี่ยนพฤติกรรม ลดเจ็บป่วยด้วยเทคโนโลยี เฟ้นต่อยอดพัฒนาระดับสากล ระบุกำลังเป็นกระแสของโลก
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า Google ประเทศไทย Google Developer Group (GDG) สถาบัน Change Fusion และ สสส. ร่วมกันจัดกิจกรรม HAC Market ภายใต้โครงการประกวด Health APP Challenge 2 พัฒนาแอปพลิเคชันสร้างเสริมสุขภาพครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น คาดว่ามีคนไทยใช้สมาร์ทโฟนกว่า 24 ล้านเครื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดีในการนำเรื่องสุขภาพมาเชื่อมโยงกับการรับรู้ข่าวสารด้วยช่องทางนี้ ซึ่งการประกวด Health APP Challenge ครั้งที่ 2 ได้รับความสนใจจากนักพัฒนาแอปพลิเคชันส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 60 ทีม โดยปีนี้มีโจทย์เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น หรือการมีสุขภาวะที่ดี ถือเป็นกระแสของโลก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. ที่จะกระตุ้นให้ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาวะ ทั้งระดับบุคคล และองค์กร ก็จะเป็นการสร้างระบบและสภาพแวดล้อมด้านสุขภาวะที่ยั่งยืน และหวังให้ประชาชนดูแลตนเองในระดับเบื้องต้น และป้องกันไม่ให้เกิดโรคเพื่อลดการพึ่งพาการรักษา การใช้ยาและพบแพทย์ ซึ่งความหมายของคำว่าสุขภาพในปัจจุบันคือ การวางแผนการใช้ชีวิตโดยออกแบบเพื่อสร้างสมดุล
นายไกลก้อง ไวทยากร จากสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า ทีมที่เข้าการคัดเลือก 10 ทีม สุดท้ายจะมีโอกาสร่วมงานกับ สสส. และภาคีเครือข่ายในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพของประชาชนต่อไป โดยจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านข้อมูลเพื่อการพัฒนาแอปพลิเคชัน และผู้เชี่ยวชาญเชิงเทคนิค และจะมีการคัดเลือกให้เหลือ 3 ทีมสุดท้าย ที่ได้รับสิทธิในการเข้าอบรมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและต่างประเทศเพื่อต่อยอดพัฒนาในระดับสากล ทั้งนี้ ปัจจุบันแอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพของ สสส. มีการพัฒนาและใช้ได้จริงแล้วประมาณ 10 กว่าแอปพลิเคชัน ซึ่งมียอดจากการดาวน์โหลดและใช้งานจริง
ด้านนายชันยธร จรรยาวรลักษณ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนทีม Bike Route ที่ได้รับรางวัล Popular Vote กล่าวว่า แรงบันดาลใจการทำแอปพลิเคชัน Bike Route เรื่องเส้นทางการปั่นจักรยาน เกิดจากการรักการปั่นจักรยาน เพราะสามารถลดเวลาการเดินทาง และได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ชัดเจน แต่เพื่อนส่วนใหญ่มักห้ามเพราะอาจเกิดอันตรายบนท้องถนนได้ จึงอยากพิสูจน์ว่ายังมีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนรักการปั่นจักรยาน โดยใช้เวลาพัฒนาแอปพลิชั่น Bike Route ประมาณ 3 เดือน ศึกษาข้อมูลเส้นทางการปั่นจักรยาน ทั้งจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการปันปั่น และมูลนิธิโลกสีเขียว โดยจุดเด่นของแอปพลิเคชั่น Bike Route คือ 1.แผนที่ และเส้นทางสำหรับนักปั่นจักรยาน 2.ประวัติ บอกสถิติและเก็บข้อมูลสำหรับนักปั่น 3.สังคมนักปั่น การดึงกิจกรรมการปั่นจักรยานจากองค์กรต่างๆ ให้นักปั่นได้เข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนกันข้อมูลร่วมสร้างสังคมอย่างยั่งยืน โดยแอปพลิเคชันนี้จะใช้สีที่แตกต่างกันในเส้นทางการปั่น เพื่อบอกความยากและง่ายในแต่ละเส้นทาง และเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของนักปั่นเอง
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่