หลังจากงาน Google I/O 2014 เกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดจากกูเกิลในชื่อโค้ดเนมว่า “Android L” ได้สร้างเสียงตอบรับที่ดีภายในงานกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบ แนวคิดของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ใหม่หมดพร้อมปรับปรุงส่วนประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้แอนดรอยด์ให้ดีขึ้นและลบภาพข้อด้อยของแอนดรอยด์ในอดีตออกให้หมดอีกครั้ง
โดยหลังจากงานเปิดตัว Android L สิ้นสุดลงไม่นาน ทางกูเกิลก็ได้ปล่อยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ทดลองใช้งาน Android L กับชุด Developer Preview เฉพาะบน Google Nexus 5 และแท็บเล็ต Nexus 7 เพื่อให้นักพัฒนาได้เตรียมความพร้อมปรับปรุงแอปพลิเคชันให้รองรับกับ Android L ที่จะปล่อยดาวน์โหลดจริงในอีก 2-3 เดือน และในวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซก็ได้รับ Android L ชุด Developer Preview มาทดสอบใช้งานด้วยเช่นกัน
ก่อนจะรับอ่านรายละเอียดปลีกย่อยของ Android L Developer Preview อยากให้ทุกท่านได้รับชมคลิปวิดีโอนี้ก่อน เพื่อจะได้เห็นการทำงานของ Android L แบบภาพเคลื่นไหวที่ไม่สามารถอธิบายเป็นข้อเขียนได้ทั้งหมด
อย่างที่จั่วหัวไว้ว่า Android L ที่ทีมงานได้รับมาทดสอบเป็นรุ่นทดสอบสำหรับนักพัฒนารุ่นแรก แน่นอนว่าชุดทดสอบนี้จะมาพร้อมกับปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ของแอปพลิเคชันและหน้าตาการใช้งานบางส่วนที่แตกต่างกับตอนพรีวิวบนเวที Google I/O 2014 ค่อนข้างมาก โดยเมื่อ Android L ถูกพัฒนาจนสมบูรณ์พร้อมปล่อยให้ดาวน์โหลดจริง กูเกิลจะประกาศชื่อรุ่นและเลขรุ่นอย่างเป็นทางการสำหรับ Android L อีกครั้ง และอุปกรณ์ที่จะได้รับการอัปเกรดก่อนจะเป็น Google Nexus 5 และ Nexus 7 ส่วนแอนดรอยด์โฟนรุ่นอื่นจะได้รับการอัปเกรดจากผู้ผลิตหลังจากนั้นอีก 1-6 เดือนเนื่องจากต้องปรับให้เข้ากันได้กับระบบและซอฟต์แวร์ UI ของแต่ละผู้ผลิตอีกครั้ง
มาถึงการปรับเปลี่ยนที่สัมผัสได้จากชุด Android L Developer Preview บนเครื่องทดสอบ Nexus 5 สิ่งแรกที่ถือว่าน่าสนใจมากที่สุดก็คือดีไซน์ใหม่บนแนวคิด ”Material Design” ที่มีต้นแบบมาจากกระดาษสีขาวที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสามารถตัดแปะปุ่มและหน้าต่าง ข้อความซ้อนทับกันได้หลายเลเยอร์พร้อมแสงเงาเพื่อบอกความลึกของวัตถุที่แปะลงไปได้ แถมกระดาษบนแนวคิด Material Design ยังสามารถต่อกันได้หลายขนาดด้วยการเขียนโค้ดเพียงครั้งเดียว (ยกตัวอย่าง ไม่ต้องมาเขียนแอปฯ แยกเพื่อรองรับกับแท็บเล็ตหรือทีวี) เพื่อรองรับแอนดรอยด์ดีไวซ์ที่มีหลายขนาดหน้าจอตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปถึงแอนดรอยด์ทีวี หมดปัญหาเรื่องหน้าตาแอปพลิเคชันที่ไม่สมบูรณ์เมื่อนำไปเล่นบนแอนดรอยด์ดีไวซ์ที่มีขนาดหน้าจอใหญ่กว่าสมาร์ทโฟนเหมือนในอดีต
และเพื่อให้ Material Design ทำงานได้สมบูรณ์พร้อมลบข้อด้อยอาการขาดเสน่ห์และศิลปะในเรื่องประสบกาณ์การใช้งานของผู้ใช้ เช่น เอ็ฟเฟ็กต์เล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความน่าสนใจและเป็นลูกเล่นที่คนส่วนใหญ่ชอบ ซึ่งคู่แข่งอย่างแอปเปิลทำได้ดีมาก กูเกิลจึงเลือกใส่เอ็ฟเฟ็กต์บนความเร็วเฟรม 60 เฟรมต่อวินาทีเพื่อความลื่นไหล อีกทั้ง Animation เอ็ฟเฟ็กต์ทุกส่วนในแอนดรอยด์ใหม่นี้จะเคลื่อนไหวจากจุดเริ่มต้นไปจุดจบอย่างต่อเนื่องและมีที่มาที่ไปทุกส่วน เช่น เรากดติ๊กถูกที่ Airplane Mode ก่อนช่องสี่เหลี่ยมจะมีเครื่องหมายถูกปรากฏขึ้น ถ้ารับชมแบบภาพสโลโมชั่นเราจะเห็นว่าเมื่อเราสัมผัสลงไปที่ช่องสี่เหลี่ยมที่จุดตรงกลางของกล่องสี่เหลี่ยมจะมีสีเขียวค่อยๆ ไหลออกจากตรงกลางจนท่วมเต็มกล่องสี่เหลี่ยมในขณะเดียวกับที่มีเส้นสีขาวขีดเป็นเครื่องหมายถูกเกิดขี้นภายในช่องสี่เหลี่ยมนั้น
หรือแม้แต่ปุ่มไอคอนโทรศัพท์และปุ่มโพสต์ข้อความต่างๆ ที่สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนตำแหน่งไปมาได้ทุกมุมของหน้าจอ หรือแป้นตัวเลขโทรศัพท์ที่เวลากดเรียกขึ้นมาจะแยกเป็นเลเยอร์หลายส่วนซ้อนทับกันจนเกิดมิติและลูกเล่นได้อย่างน่าสนใจ
มาถึงหน้า Lock Screen ก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่หมดเช่นกัน โดยระบบแจ้งเตือนจะเน้นแสดงให้เห็นรายละเอียดแทนที่จะเป็นไอคอนขนาดเล็กด้านบนเหมือนสมัยก่อน แถมการแสดงผลจะอ้างอิงจาก Card UI ใน Google Now ที่ตัวการ์ดเวลามีข้อมูลแจ้งเตือนจำนวนมาก การ์ดจะสามารถซ้อนทับกันได้และถ้าผู้ใช้อยากเห็นรายละเอียดทั้งหมดก็เพียงกดที่การ์ดค้างไว้และเลื่อนลงเท่านั้น
อีกทั้งการแสดงผลแบบ Card UI ยังตามไปถึงส่วนของระบบแจ้งเตือน (Notifications) ที่เมื่อรวมกับ Material Design แล้วระบบแจ้งเตือนบนแอนดรอยด์จะมีสีสันมากขึ้น
นอกจาก Android L จะนำ Card UI และ Material Design มาใช้ในการออกแบบแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่กูเกิลเลือกใช้ร่วมด้วยก็คือ รูปทรงเลขาคณิต ดังจะเห็นได้ชัดเจนสุดจากปุ่มคำสั่งย้อนกลับ (สามเหลี่ยมด้านเท่า) โฮม (วงกลม) และ Recent Apps (สี่เหลี่ยมจตุรัส) ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และคาดว่าในอนาคตการออกแบบทั้งสามรูปแบบนี้จะปรากฏให้เห็นในแอปพลิเคชันต่างๆ และจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของกูเกิลไปในที่สุด (ถ้าผลตอบรับดี)
มาถึงระบบแจ้งเตือนที่ถูกปรับเพิ่มเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ (ตอนนี้มีแอปฯ Twitter Beta for Android L รองรับอยู่แค่แอปฯ เดียว) โดยจากการทดสอบเมื่อมีข้อความเข้าระหว่างที่ผู้ใช้กำลังเล่นเกมและใช้งานแอปพลิเคชันอยู่ ระบบจะแสดงการแจ้งเตือนเป็นแบนเนอร์เลื่อนจากบนสุดของขอบจอลงมาพร้อมปุ่มตอบกลับข้อความ ส่วนถ้าระหว่างที่ Heads up Notifications ปรากฏขึ้นแล้วรู้สึกรำคาญหรือขัดจังหวะระหว่างเล่นเกมก็สามารถสไลด์แบนเนอร์ที่ปรากฏขึ้นทิ้งไปได้โดยไม่ทำให้เกมหยุดเล่น
ส่วนฟีเจอร์เด่นที่คนใช้ Pure Google รอมานานกับ Battery Saver ซึ่งอยู่ในโครงการหมายเลข 3 ในชื่อ Project Volta ซึ่งเมื่อรวมความสามารถกับโครงการหมายเลข 1 คือ Project Butter สมัย Jelly Bean (ให้กราฟิกช่วยให้การทำงานลื่นไหลขึ้น) และโครงการหมายเลข 2 คือ Project Svelte สมัย KitKat (บริโภคทรัพยากรน้อยลง) กูเกิลก็หวังให้ทั้ง 3 โครงการรวมกันเป็นมาตรฐานใหม่ในการจัดสรรพลังงานที่ดีขึ้น โดยแบตเตอรีของแอนดรอยด์ทุกรุ่นในอนาคตจะอึดขึ้นด้วยชุดคำสั่งใหม่ที่ทำให้ระบบสามารถเรียนรู้และติดตามการใช้งานโทรศัพท์ของผู้ใช้พร้อมปรับโหมดการทำงานไปถึงซีพียูอย่างเหมาะสม
โดยในชุดทดสอบสำหรับนักพัฒนา L Developer Preview ทางกูเกิลได้เลือก Battery Saver มาให้ชิมลางทดลองใช้กันก่อน ซึ่งจากการทดสอบร่วม 2 วันสรุปผลได้ว่า Battery Saver จะเรียกใช้งานอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรีต่ำกว่า 15% (สามารถตั้งค่าได้) หรือสั่งเปิด Manual เองก็ได้ โดยหลังจากเปิดใช้งานความเร็วซีพียูและจำนวนคอร์จะถูกปรับให้ทำงานความเร็วต่ำสุด ส่วนหน้าจอจะลดแสงลงและระบบจะตัดเอ็ฟเฟ็กต์ให้น้อยลงทำให้เมื่อแบตเตอรีใกล้หมด (ขึ้นขีดแดง) จะสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องอีกประมาณ 90-100 นาที
นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ใน Android L Developer Preview เกี่ยวกับอายุของแบตเตอรีก็คือแบตเตอรีอึดขึ้นกว่าเดิมมาก จากการทดสอบใน Nexus 5 เปิด Google Services หมดทุกตัว เชื่อมต่อ 4G LTE เหมือนตอน KitKat ผลปรากฏใช้งานตลอดวันแบตเตอรีสามารถใช้งานได้นานกว่า 10-12 ชั่วโมง พร้อมค่า Google Play services ที่เรียกใช้แค่ 33 นาทีตลอดการทดสอบ 13 ชั่วโมง
สุดท้ายกับสิ่งที่ถูกปรับปรุงใหม่ใน Android L เพื่อทำให้การทำงานลื่นไหลมากขึ้นก็คือ ชุดคำสั่ง ART Runtime ที่หลังจากกูเกิลปล่อยให้ทดสอบใน KitKat มาถึง Android L กูเกิลได้เลือกใช้ ART Runtime เป็นชุดคำสั่งขับเคลื่อนหลักแทนที่ Dalvik แน่นอนเพราะ ART รองรับซีพียู 64 บิต ได้สมบูรณ์แบบจนสามารถต่อกรกับคู่แข่งได้สมน้ำสมเนื้อที่สุด อีกทั้ง ART ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วใน KitKat ว่าช่วยให้แบตเตอรีอึดขึ้นพร้อมระบบที่ทำงานได้ลื่นไหลกว่าเดิมโดยไม่ต้องเปลืองหน่วยความจำภายในจนนำไปสู่การเกิด API ใหม่ๆ ที่ดึงความสามารถของระบบได้เต็มประสิทธิภาพกว่าตอนระบบรัน Dalvik ในแอนดรอยด์รุ่นเก่า เช่น API กล้องตัวใหม่ในอนาคต รวมถึง Android Extension Pack ที่จะใช้ความสามารถของ ART Runtime ในการสร้างกราฟิกสามมิติที่กูเกิลคุยว่าอยู่ระดับเดียวกับพีซีเกมที่รันชุดคำสั่ง DirectX 11 เลย
และทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Android L ที่กูเกิลพยายามคิดใหม่ ทำใหม่พร้อมสร้างมาตรฐานแอนดรอยด์ใหม่เพื่อลบข้อด้อยทั้งหมดในอดีต โดยเฉพาะเรื่องการเป็นระบบปฏิบัติการที่ต้องใช้ฮาร์ดแวร์แรงๆ ถึงจะลื่นไหลและแบตเตอรีก้อนใหญ่เท่านั้นถึงจะทำให้แอนดรอยด์ใช้งานได้นาน ส่วนนี้กูเกิลให้ความสำคัญมากและพยายามลบข้อด้อยตรงนี้ลงใน Android L
ก็คงต้องรอดูตอนตัวเต็มออกอีกครั้งว่ากลยุทธ์บุกตลาดสมาร์ทโฟนของกูเกิล แอนดรอยด์ใหม่นี้จะเป็นอย่างไร เพราะครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สุดของแอนดรอยด์ถึงขนาดที่กูเกิลต้องยอมเดินตามคู่แข่งปล่อย Android L Developer Preview พร้อมชุดเขียนโปรแกรมออกมาก่อน เพื่อให้นักพัฒนาหันมาให้ความสนใจและช่วยผลักดันแอปพลิเคชันใหม่ๆ สำหรับ Android L ก่อนที่เวอร์ชันเต็มจะปล่อยให้ดาวน์โหลดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ต้องรอติดตามชมกันต่อไปครับ เพราะ Developer Preview ก็เป็นเพียง Android L รุ่นทดสอบที่มีความสมบูรณ์แค่เพียง 50% เท่านั้น อีก 50% ที่เหลือยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย โดยเฉพาะ Material Design ที่จะทำให้แอนดรอยด์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นกว่าทุกครั้งที่เคยเป็น
ตอนนี้ CyberBiz ของเราได้เปิด Instagram เพิ่มอีก 1 ช่องทาง ผู้อ่านทุกท่านสามารถไปกดติดตามได้ครับที่ http://instagram.com/cbizonline
CyberBiz Social