xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แนะวิธีเลือกซื้อของเซ่นไหว้สารทจีน-ย้ำอาหารต้องปรุงสุก-สะอาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. แนะประชาชนเซ่นไหว้สารทจีนปลอดภัย เลือกซื้อเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ จากแหล่งที่สะอาด เตือนปรุงอาหารให้สุกเนื้อสัตว์ต้องผ่านความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศา เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียและไวรัส และต้องนำผักและผลไม้แช่ด้วยน้ำเกลือ หรือด่างทับทิม เพื่อล้างยาฆ่าแมลงออกให้หมด ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งและโรคอาหารเป็นพิษ และหลังไหว้ต้องนำอาหารมาอุ่นก่อนรับประทาน ชี้กว่า 7 เดือนของปีนี้พบทั่วประเทศป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 76,463 กว่าราย
แฟ้มภาพ
วันนี้ (9 ส.ค.) แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 สิงหาคม 2557 เป็นเทศกาลสารทจีน ถือเป็นวันสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนที่จะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้ จึงมักจะจับจ่ายซื้ออาหารสำหรับไหว้และนำไปบริโภคจำนวนมาก อาหารที่ใช้จะมีทั้งของคาว ของหวาน และผลไม้ เช่น เป็ด และไก่ต้ม เนื้อหมูติดหนัง ปลา ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู ซาลาเปา ส้ม กล้วย เป็นต้น เพราะฉะนั้น ขอเตือนให้ประชาชนเลือกซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ที่สด สะอาด ปลอดภัย จากแหล่งจำหน่ายที่สะอาด โดยเฉพาะการเลือดซื้อเนื้อสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ เนื้อต้องไม่มีสีคล้ำ ไม่มีจ้ำเลือด ไม่ทาสีตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนเนื้อหมูต้องเลือกเนื้อที่มีสีแดงตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ วิธีการปรุงอาหารคาวก่อนเซ่นไหว้ ต้องทำให้สุกทั่วทั้งชิ้นด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส เพราะความร้อนจะทำลายเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งพยาธิที่อาจอยู่ในเนื้อสัตว์ สำหรับการเลือกซื้อผัก ต้องสีสดเป็นธรรมชาติ ไม่มีเศษดิน หรือคราบสีขาวของยาฆ่าแมลง และก่อนนำมาปรุงเป็นอาหาร ต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะผักสดต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2 - 3 ครั้ง ครั้งละ 5 - 7 นาที และแช่ด้วยน้ำเกลือหรือด่างทับทิม แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อล้างยาฆ่าแมลงที่สะสมอยู่ด้านในออก เนื่องจากความร้อนไม่สามารถล้างยาฆ่าแมลงออกได้ หากรับประทานเข้าไปอาจเกิดการสะสมก่อให้เกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จพิธีเซ่นไหว้ ก่อนนำอาหารเซ่นไหว้มารับประทานขอให้ประชาชนทำให้สุกอีกครั้งด้วยการต้ม นึ่ง หรือผัด เพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพิธี เนื่องจากตั้งอาหารทิ้งไว้นาน ไม่ได้แช่เย็นหรือปกปิดอย่างดี จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในอาหารได้เป็นอย่างดี อาจก่อโรคอาหารเป็นพิษได้ง่าย

แพทย์หญิง พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยาปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 4 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 76,463 ราย จาก 77 จังหวัด พบทุกกลุ่มอายุ ไม่มีผู้เสียชีวิต พบได้ทุกฤดูกาล เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอแนะนำให้ประชาชน ยึดหลักปฏิบัติคือ กินร้อน ใช้ช้อนกลางและล้างมือก่อนรับประทานอาหารและภายหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่พบได้บ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ หรือไม่ได้อุ่นให้ร้อนเพียงพอก่อนรับประทาน อาการของโรคนี้เกิดได้ ตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงจนถึง 8 วันหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป อาการมากน้อยขึ้นอยู่กับบุคคลและปริมาณที่กิน อาการที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการมีไข้ เบื่ออาหาร และท้องเสีย อาจถ่ายมีมูกเลือดปนได้ หากถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป หรือมีถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แทนน้ำ ป้องกันภาวะขาดน้ำ หากยังไม่ดีขึ้น และถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น