เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา วอน คสช. ดูแลพนักงานมหาวิทยาลัย แนะเยียวยาเร่งพิจารณามติให้สนับสนุนงบเงินเดือนเต็มตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่ปี 2542
วันนี้ (6 ส.ค.) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานฯคาดหวังว่า กระแสการขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้ ฝ่ายกิจการพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่ลืมปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษา คือ กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1.3 แสนคน จาก 1.7 แสนคนของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด จึงอยากให้แก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน เพราะปัญหานี้เรื้อรังมานานกว่า 15 ปีแล้ว ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดย ครม. มีมติให้ได้รับเงินเดือนในอัตรา 1.5 - 1.7 เท่าของฐานราชการปัจจุบัน เพื่อทดแทนสิทธิ์ราชการเดิมที่สูญเสียไปทั้งหมด
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มติในปี 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการเพื่อชดเชยสิทธิ์ที่ต้องเสียไป คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับสายอาจารย์ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับสายสนับสนุน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) รวมระยะเวลา 15 ปีแล้ว ที่จำนวนข้าราชการลดลงและพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทดแทน แต่เงินเดือนกลับไม่เป็นตามที่ตกลง โดยล่าสุดส่วนใหญ่ได้ในรับในอัตราต่ำกว่า 1.5 แต่เป็นฐาน 1.5 ของฐานเงินเดือนเก่าของปี 2555
“การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการถือเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่ต้องไม่ลืมทั้งระบบที่ผูกพันระบบราชการเดิมอยู่ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นกลุ่มที่ถูกลืมเป็นอันดับแรก และเป็นปัญหาเดิม ซ้ำซาก ที่ศูนย์ประสานงานฯต้องตามเรียกร้องขอให้แก้ไขมาโดยตลอด จึงอยากถือโอกาสนี้ให้ฝ่ายกิจการพิเศษของ คสช. ศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ หากยังได้รับการเพิกเฉย ศูนย์ประสานงานฯ จะส่งตัวแทนขอเข้าพบ คสช. เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงให้ทราบ เป็นการดำเนินการตามสิทธิ์ที่ผูกพันไว้เท่านั้น ไม่ใช่การเรียกร้องเกินกรอบแต่อย่างไร” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่